- “รองเต๋อ” พล.ต.ต.ไพศาล ลือสมบูรณ์ รอง ผบช.ภ.3 ยอมรับข้อสอบวัดกึ๋น “ตำรวจจราจร” โคตรยาก
- เกณฑ์ตัดสินต้องสอบให้ผ่าน 80% คือต้องถูกตั้งแต่ 40 ข้อขึ้นไป
- นายตำรวจระดับหัวกะทิ ยังเอ่ยปากยอมรับว่า “ยาก”
นับเป็นไอเดียที่ดี กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 (บช.ภ.3) จัดโครงการทดสอบความรู้ทั่วไปด้านกฎหมายจราจร “วัดกึ๋น” การทำหน้าที่ของ “ตำรวจหัวปิงปอง” 8 จังหวัดในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง ต้องแม่นข้อกฎหมายเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
โครงการนี้ผู้บังคับบัญชามองว่า ตำรวจจราจรเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับการจราจรในการปฏิบัติหน้าที่
ต้องสามารถชี้แจงประชาชน หรือ ผู้ถูกดำเนินการจับกุมให้เข้าใจได้ว่า ผิดกฎหมายอย่างไร อยู่ในมาตราใด
วันก่อน “บิ๊กหลวง” พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผบช.ภ.3 มอบหมายให้ พล.ต.ต.ไพศาล ลือสมบูรณ์ รอง ผบช.ภ.3 หรือ “รองเต๋อ” เป็นประธานในพิธีเปิดการทดสอบความรู้กฎหมายจราจร และทดสอบสมรรถภาพร่างกาย สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่งานจราจรของข้าราชการตำรวจในสังกัด ตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์
โดยมี พล.ต.ต.รุทธพล เนาวรัตน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมด้วย รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์, หัวหน้าสถานีตำรวจภูธรในสังกัด และข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่งานจราจรในสังกัด จำนวน 384 นาย เข้ารับการทดสอบในครั้งนี้
ย้อนประวัติ รองเต๋อ พื้นเพเป็นคน จ.ชลบุรี เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 27 นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 43 เริ่มรับราชการตำแหน่งแรกเป็นรองสารวัตรสอบสวน สภ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี เติบโตในเส้นทางสายสอบสวนกลาง อาทิ บก.ปอศ. บก.ป. บก.ปคม. บก.อก. บช.ก. บช.ทท. ก่อนขึ้นเป็น ผกก.สน.ปทุมวัน 2 ปี
จากนั้นเป็น ผกก.สภ.เมืองหนองคาย 1 ปี รอง ผบก.ภ.จว.หนองคาย 5 ปี และ ผบก.ภ.จว.หนองคาย 3 ปี ข้อมูลจากกองทะเบียนพล เป็นคนเดียวใน ตร. ที่รับตำแหน่งในหน่วยเดิมต่อเนื่องนานที่สุดกว่า 9 ปี จากนั้นขึ้นเป็น รอง ผบช.น. กระทั่งล่าสุดขยับขึ้นเป็น รอง ผบช.ภ.3
“รองเต๋อ” ให้สัมภาษณ์ไทยรัฐออนไลน์ ถึงการสอบวัดความรู้ตำรวจจราจรในพื้นที่อีสานใต้ ทั้งหมด 8 จังหวัด มี ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร และอำนาจเจริญ ว่า สืบเนื่องจากนโยบายท่าน ผบ.ตร. พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข คือ ตำรวจจราจรจะต้องมีความรู้จริงด้านข้อกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่ โดยมีการเสริมความรู้ เพราะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายจราจรที่เป็นเครื่องมือใช้ทำงาน และต้องชี้แจงให้ผู้ถูกจับเข้าใจได้
“ตัวผมเองในฐานะคุมงานจราจรภาค 3 และท่าน ผบช.ภ.3 เห็นว่า เรื่องนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจจราจรในยุคปัจจุบัน จึงตั้งคณะกรรมการออกข้อสอบขึ้นมา 10 คน เป็นข้อสอบชุดใหม่ทั้งหมด ไม่มีแบบเดิม ถ้าพูดแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือ “โคตรยาก” เกี่ยวกับความรู้เรื่องข้อกฎหมายกฎจราจร พ.ร.บ.ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.จราจร พ.ร.บ.ขนส่ง พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ ป.วิอาญา รวมถึงกฎจราจรใหม่ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลง กว่าที่ข้อสอบชุดนี้จะตกผลึกกินเวลา เกือบ 2 เดือน กว่าจะเสร็จ”
โดยข้อสอบเป็นแบบปรนัย 50 ข้อ แต่มีตำราให้อ่านล่วงหน้าเพื่อเตรียมตัว 400 ข้อ
แต่ละจังหวัดจะได้ข้อสอบไม่ซ้ำกัน สลับหมุนเวียนอยู่ใน 400 ข้อ ที่แจกเป็นคู่มือเตรียมสอบไปก่อนหน้า โดยให้เวลาสอบ 1 ชั่วโมง 30 นาที
“ข้อสอบเราไม่ได้ลอกจาก 400 ข้อมาล้วนๆ เราสลับช้อยส์ เอาคำตอบมาเป็นคำถาม เอาคำถามมาเป็นคำตอบ แต่อยู่ในเนื้อหาเดียวกัน พูดง่ายๆ ว่า ถ้าท่องจำมาตก ถ้าไม่อ่านรับรองว่าตกอยู่แล้ว และถ้านั่งสอบใกล้ๆ กัน จะมาลอกกันไม่ได้แน่นอน เพราะเราแบ่งเป็นชุดย่อยๆ a b c”
เกณฑ์ตัดสินต้องสอบให้ผ่าน 80% คือต้องถูกตั้งแต่ 40 ข้อขึ้นไป
สำหรับตำรวจที่สอบไม่ผ่านเกณฑ์ เบื้องต้นจะให้โอกาสแก้ตัวสอบใหม่อีกรอบ สนามสุดท้าย ที่ ภ.จว.นครราชสีมา
หากยังสอบไม่ผ่านอีก มาตรการเบื้องต้น ต้องเปลี่ยนหน้าที่รับผิดชอบ อาจจะพิจารณาคำสั่งให้ย้ายไปสายงานอื่น เช่น ต้องไปอยู่ฝ่ายอำนวยการ ธุรการ เหมือนลงโทษห้ามถือใบสั่งไปในตัว
“ผมขอยืนยันว่าการสอบวัดความรู้ตำรวจจราจร ไม่ใช่การปาหี่ เล่นขำๆ เราไม่เอา ขอให้เชื่อมือ เดิมทีมีการส่งให้ภูธรจังหวัดจัดสอบกันเอง ซึ่งผมไม่ทำ มันไม่มีจังหวัดไหนหรอกอยากให้ลูกน้องตัวเองสอบตก เสื่อมเสียชื่อเสียง
ผมลงมาคุมเอง วางแผนออกข้อสอบเอง ขอให้เชื่อใจ โดยเฉลี่ยมีตำรวจได้คะแนนเต็ม 10% ตกอีก 10% บางจังหวัดไปเจอคณะกรรมการออกข้อสอบยากมาก ไม่ได้คะแนนเต็มก็ยังมี ตกเยอะอีกด้วย”
เมื่อถามย้ำว่า มีเคสตำรวจจราจรที่สอบเท่าไหร่ก็ไม่ผ่านบ้างมั้ย พล.ต.ต.ไพศาล ยอมรับว่ามี สอบ 3 รอบก็ยังไม่ผ่าน ได้คะแนน 20 กว่า จนรู้สึกท้อไม่อยากไปสอบ บวกกับวินัยไม่ดี จึงย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ “พลขับ”
เคล็ด(ไม่)ลับ “หัวกะทิ”
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ สมกิจศิริ ผกก.สภ.เมืองบุรีรัมย์ ยอมรับว่าข้อสอบดังกล่าว มีความยากอยู่พอสมควร ส่วนตัวทำถูก 47 ข้อ ซึ่งจริงๆ แล้วก่อนหน้าการทดสอบ ก็จะมีแนวข้อสอบให้มาอ่าน ตนเชื่อว่าหลักสำคัญจริงๆ ก็คือ ทางผู้บังคับบัญชาคงอยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรได้อ่านทบทวนความรู้ ซึ่งหากใครได้อ่านแล้ว ก็น่าจะทำได้ แต่ว่าคงต้องใช้เวลาสักพัก
“ในส่วนของฟีดแบ็กลูกน้องผม เมื่อสอบแล้ว บางนายก็บอกว่ายากๆ ก็คือ บางส่วนอาจจะไม่ตรงกับในคู่มือเตรียมสอบทั้งหมด มีโจทย์หลอกบ้าง อะไรบ้าง แต่ทว่าก็อย่างที่บอก ถ้าอ่านมาก็น่าจะพอทำได้ “ถ้าพูดง่ายๆ ข้อสอบก็ยากจริงๆ ไม่มีปาหี่ ตกก็ตกจริง ได้ความรู้มาอีกเยอะ” ผกก.สภ.เมืองบุรีรัมย์ กล่าวอย่างอารมณ์ดี
“ไม่ได้ฆ่าให้ตาย ไม่ถึงขนาดนั้น”
การทดสอบเพื่อจะให้องค์ความรู้ และตรวจสอบว่าหน่วยงานของเรามีความเป็นมืออาชีพแค่ไหน ถ้าคิดว่ายังไม่เป็นมืออาชีพ ผู้บังคับบัญชาก็ต้องคิดหาแนวทางแก้ไข ซึ่งไม่ได้เป็นการลงโทษฟาดฟันกัน เราต้องการให้เขาพัฒนาตื่นตัวเป็นตำรวจมืออาชีพ พร้อมดูแลประชาชน ตำรวจคนไหนไม่เหมาะสม เราก็มาพิจารณากันว่าควรจะอยู่ในสายงานนั้นต่อไปมั้ย
สุดท้ายที่อยากฝากถึงผู้ใต้บังคับบัญชา ก็คือ ขอให้ทำงานบนความเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองมีความรู้ โดยยึดหลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” บังคับใช้กฎหมายโดยอาศัยหลักนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ควบคู่กัน ที่สำคัญต้องพูดจาดีๆ กับพี่น้องประชาชน “รองเต๋อ” พล.ต.ต.ไพศาล ลือสมบูรณ์ รอง ผบช.ภ.3 กล่าวทิ้งท้าย.
เรื่อง:gravity_ki