มท.3 เผยแก้ไขกฎกระทรวงใหม่ ทันสมัยครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว
เมื่อวันที่ 31 มี.ค.64 นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิศาสตร์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ได้ส่งผลความเปลี่ยนแปลงของลักษณะพื้นที่ในเชิงกายภาพหลายพื้นที่ ตลอดจนได้มีการค้นพบพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวเพิ่มเติมในหลายจังหวัด จึงได้มีการปรับปรุงแก้ไข กฎกระทรวง กำหนดการรับน้ำหนัก ความคงทนของอาคาร และพื้นที่ดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2550 เพื่อให้มีความทันสมัยและปลอดภัยแก่ประชาชนในการเข้าใช้อาคารมากยิ่งขึ้น
ด้านนายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินการปรับปรุงกฎกระทรวง กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นที่ดินรองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2564 โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนที่ 16 วันที่ 4 มี.ค.64 มีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยลงนาม เมื่อวันที่ 28 ม.ค.64 โดยกฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป สาระสำคัญของกฎกระทรวงฉบับนี้ กำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวเป็น 3 บริเวณ คือ 1.พื้นที่เฝ้าระวัง เนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าอาคารอาจได้รับผลกระทบด้านความมั่นคงแข็งแรงและเสถียรภาพเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ได้แก่ กระบี่ ชุมพร ตรัง นครพนม นครศรีธรรมราช บึงกาฬ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก เพชรบุรี เลย สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี และหนองคาย
นายพรพจน์ กล่าวอีกว่า 2.บริเวณที่มีความเป็นไปได้ว่าอาคารอาจได้รับผลกระทบทางด้านความมั่นคงแข็งแรง และเสถียรภาพในระดับปานกลางเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ได้แก่ กรุงเทพฯ กำแพงเพชร ชัยนาท นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา พังงา ภูเก็ต ระนอง ราชบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี และอุทัยธานี และ 3.บริเวณหรือพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ว่าอาคารอาจได้รับผลกระทบทางด้านความมั่นคงแข็งแรง และเสถียรภาพในระดับสูงเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัยและอุตรดิตถ์
ทั้งนี้ กำหนดรายละเอียดอาคารประเภทต่างๆ จำแนกตามบริเวณที่มีความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวแตกต่างกันข้างต้น และกำหนดให้การอออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคารแต่ละประเภท ต้องคำนวณให้อาคารสามารถรับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ไม่ต่ำกว่าที่รัฐมนตรีกำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคาร