“ศักดิ์สยาม” กดปุ่มดีเดย์ ซิ่ง 120 กม./ชม.วันแรกสายเอเชีย “บางปะอิน – อ่างทอง” แย้มปลายปีนี้เหยียบมิด 25 สายทั่วไทย ของบกปถ. วงเงิน 800 ล้านทุ่มปรับปรุง หวั่นไม่พอจ่อขอส่วนอื่นเพิ่ม
เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2564 ที่หมวดทางหลวงบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธี เริ่มต้นใช้ความเร็ว 120 กม./ชม. บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ช่วงหมวดทางหลวงบางปะอิน-ทางต่างระดับอ่างทอง ช่วงกม.4+100 – กม. 50+000 ทั้งขาเข้าและขาออก ระยะทาง 45.9 กม.
เป็นนโยบายแรกเริ่ม
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า นโยบายการปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์ จากความเร็วไม่เกิน 90 กม./ชม. เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. เป็นนโยบายที่ริเริ่มตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือน ก.ค. 2562 โดยเส้นทางแรกที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นในวันนี้คือ ทางหลวงหมายเลข 32 (สายเอเชีย) ช่วงหมวดทางหลวงบางปะอิน – ทางต่างระดับอ่างทอง
ทล.กาง 19 เส้นทางนำร่องต่อ
หลังจากเริ่มต้นที่เส้นทางนี้ กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) มีแผนจะประกาศใช้สายทางในระยะที่ 2 ภายในเดือนส.ค. 2564 นี้ ครอบคลุมเส้นทางในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ระยะทางประมาณ 261.49 กม.จำนวน 14 เส้นทาง
ประกอบด้วย 1. ทางหลวงหมายเลข 1 ตอนหางน้ำหนองแขม – บ้านหว้า – วังไผ่ ระยะทาง 25.273 กม. จ.นครสวรรค์ 2.ทางหลวงหมายเลข 2 ตอนบ่อทอง – มอจะบก ระยะทาง 14.8 กม. จ.นครราชสีมา
3.ทางหลวงหมายเลข 32 ตอนอ่างทอง – ไชโย – สิงห์ใต้ – สิงห์เหนือ – โพนางดำออก ระยะทาง ระยะทาง 63 กม. จ.อ่างทอง – สิงห์บุรี
4.ทางหลวงหมายเลข 347 ตอนเทคโนโลยีปทุมธานี – ต่างระดับเชียงรากน้อย ระยะทาง 10 กม. จ.ปทุมธานี
5.ทางหลวงหมายเลข 1 ตอน หนองแค – หินกอง – ปากข้าวสาร – แยกสวนพฤกษศาสตร์พุแค ระยะทาง 26 กม. จ. สระบุรี
6.ทางหลวงหมายเลข 1 ตอนประตูน้ำพระอินทร์ – หนองแค ระยะทาง 27.18 กม. จ.พระนครศรีอยุธยา
7.ทางหลวงหมายเลข 1 ตอนต่างระดับคลองหลวง – ประตูน้ำพระอินทร์ ระยะทาง 6.82 กม. จ.ปทุมธานี
8.ทางหลวงหมายเลข 1 ตอนสนามกีฬาธูปะเตมีย์ – ต่างระดับคลองหลวง – ประตูน้ำพระอินทร์ ระยะทาง 10 กม. จ.ปทุมธานี
9.ทางหลวงหมายเลข 304 ตอนคลองหลวงแพ่ง – ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 11 กม. จ.ฉะเชิงเทรา
10.ทางหลวงหมายเลข 34 ตอนบางนา – ทางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 15 กม. จ.สมุทรปราการ
11.ทางหลวงหมายเลข 9 ตอน บางแค – คลองมหาสวัสดิ์ ระยะทาง 9.872 กม. กรุงเทพฯ 12.ทางหลวงหมายเลข 35 ตอนนาโคก – แพรกหนามแดง ระยะทาง 24.6 กม. จ.สมุทรสงคราม
13.ทางหลวงหมายเลข 4 ตอนเขาวัง – สระพระ 1 ระยะทาง 6.9 กม. จ.เพชรบุรี
และ14.ทางหลวงหมายเลข 4 ตอนเขาวัง – สระพระ 2 ระยะทาง 11.5 กม. จ.เพชรบุรี
และยังมีอีก 5 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,761 กม. ที่จะทยอยปรับปรุงและเปิดใช้ความเร็วดังกล่าวในระยะถัดๆไป คาดว่าจะเริ่มปรับปรุงได้ในช่วงปลายปี 2564 นี้
ประกอบด้วย 1.เส้นทางภาคเหนือ สายทางที่ 1 ตอนหางน้ำหนองแขม – กลางสะพานแม่น้ำแม่สาย เขตชายแดนไทย-พม่า ระยะทาง 585.7 กม. เชื่อมจากจ. อุทัยธานี – เชียงราย
2. เส้นทางภาคอีสาน สายทางที่ 2 ตอนสระบุรี – สะพานมิตรภาพไทยลาว หนองคาย ระยะทาง 495.4 กม. เชื่อมจากจ.สระบุรี – หนองคาย
3.เส้นทางภาคอีสานตอนล่าง สายทางที่ 24 ตอน ทางต่างระดับสีคิ้ว – อุบลราชธานี ระยะทาง 419.8 กม. เชื่อมจากจ.นครราชสีมา – อุบลราชธานี
4.เส้นทางภาคกลาง-ตะวันตก สายทางที่ 340 ตอนบางบัวทอง – ชัยนาท ระยะทาง 164.2 กม. เชื่อมจ.นนทบุรี – สุพรรณบุรี – ชัยนาท
และ 5. เส้นทางภาคใต้ สายทางที่ 44 ตอนอ่าวลึก – หินโงก ระยะทาง 96 กม. เชื่อมจ.ภูเก็ต – สุราษฎร์ธานี
ทช.คิกออฟ 6 เส้นทาง
ส่วนกรมทางหลวงชนบท (ทช.) มี 6 สายทางที่จะนำร่องใช้ความเร็ว 120 กม./ชม. ประกอบด้วย
1. ถ.ราชพฤกษ์ ระยะทาง 25.2 กม.
2.ถ.นครอินทร์ ระยะทาง 12.4 กม.
3.ถ.ชัยพฤกษ์ ระยะทาง 11.18 กม.
4.แยกทางหลวงหมายเลข 7 ช่วงกม.ที่ 80+600 – บ้านหนองกระเสริม ระยะทาง 4.982 กม. จ.ชลบุรี
5.แยกทางหลวงหมายเลข 3 ช่วงกม.ที่ 192+772 – นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะทาง 7.471 กม. จ.ชลบุรี
และ6. ถ.สมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ระยะทาง 26.108 กม. จ. เชียงใหม่
สำหรับถนนที่จะเข้าเกณฑ์จะต้องปรับปรุงเพิ่มมาตรฐานทางกายภาพให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ได้แก่ เสริมการก่อสร้างอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างทาง (Concrete Barrier) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงเนื่องจากการเสียหลักตกเกาะกลาง
ปรับปรุงจุดกลับรถระดับราบ เพื่อลดการตัดกันของกระแสจราจร ติดตั้งป้ายจราจรและป้ายเปลี่ยนข้อความได้เพื่อสื่อสารการใช้ความเร็วที่เหมาะสมในแต่ละช่องจราจร
รวมทั้งติดตั้งแถบเตือน Rumble Strips เพื่อแจ้งจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดการเข้าเขตควบคุมความเร็ว การติดตั้งระบบป้ายปรับเปลี่ยนข้อความ และการก่อสร้างจุดกลับรถแบบเกือกม้าทุกๆ 10 กม.ด้วย
ของบ กปถ. 800 ล้านปรับปรุงถนน
สำหรับการดำเนินการปรับปรุงสภาพถนน เบื้องต้นจะใช้งบจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) โดยวงเงินที่คาดว่าจะใช้ได้ก่อนตอนนี้ประมาณ 800 ล้านบาท
ทช.รับงบไม่พอ
นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวกับ”ประชาชาติธุรกิจ”ว่า งบปรับปรุงสภาพถนนที่ ทช. ได้รับจากกองทุน กปถ.อยู่ที่ 200 ล้านบาท จะนำมาปรับปรุงถ.ราชพฤกษ์ และชัยพฤกษ์ก่อน เพื่อให้เปิดวิ่งนำร่องในช่วงปลายปี 2564 นี้
แต่ยอมรับว่า วงเงินที่ได้มาน้อยไป จะต้องมีการหารือกับกรมทางหลวง เพื่อหาแหล่งเงินกู้อื่นๆมาช่วย ซึ่งยังอยู่ระหว่างหารือร่วมกันอยู่