พระธาตุบังพวน ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุบังพวน บ้านดอนหมู ตำบลพระธาตุบังพวน ห่างจากอำเภอเมืองหนองคาย ประมาณ 21 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 2 (หนองคาย-อุดรธานี) ประมาณ 11 กิโลเมตร แล้วแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 211 (หนองคาย-ท่าบ่อ) ถึงบริเวณกิโลเมตรที่ 10 วัดจะอยู่ด้านขวามือริมทาง เดิมพระธาตุบังพวนเป็นเจดีย์เก่าแก่ เป็นที่เคารพสักการะของชาวหนองคายมาช้านานตัวองค์พระธาตุเดิมเป็นเจดีย์สร้างด้วยอิฐเผา มีรูปทรงแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่น ลักษณะเจดีย์ เป็นรูปสถูปแบบอินเดียรุ่นเดียวกับองค์พระปฐมเจดีย์ เจดีย์องค์ปัจจุบันบูรณะขึ้นใหม่โดยกรมศิลปากรในระหว่างปี พ.ศ. 2519-2521 หลังจากที่องค์เดิมได้พังทลายลงเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2513 เนื่องจากฐานทรุด พระธาตุองค์ปัจจุบันมีฐานทักษิณ 5 ชั้น กว้าง 17.20 เมตร สูงถึงยอดฉัตร 34.25 เมตร รูปปรางค์สี่เหลี่ยมต่อกันเป็นบัวปากระฆังชั้นที่ 6 เป็นรูประฆังคว่ำ ชั้นที่ 7 เป็นรูปดาวปลี และเหนือชั้นไปเป็นที่ตั้งฉัตรและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังมีสถานที่สำคัญคือ ในวัดพระธาตุบังพวนนอกจากจะมีพระธาตุบังพวนเป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นเจดีย์ประธานแล้ว ยังมีสิ่งน่าสนใจอีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น สถูปเจดีย์เก่าแก่ พระพุทธรูปโบราณศิลปะล้านช้างที่น่าสนใจยิ่ง โบสถ์โบราณที่เหลือเพียงซากอิฐก่อระดับเอว รวมถึงสถานที่เกี่ยวกับพญานาคอีกแห่งหนึ่ง นั่นก็คือ “สระมุจลินท์” หรือ “สระพญานาค” สระน้ำเก่าแก่สุดคลาสสิค ที่มีตำนานเล่าว่า หลังอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าบรรจุไว้ในองค์พระธาตุ ได้เกิดปรากฏการณ์ประหลาด มีสายน้ำพวยพุ่งออกมาจากพื้นดินซึ่งเชื่อว่านี่คือปากปล่องภูพญานาคที่เฝ้าปกปักรักษาพระธาตุบังพวน จึงมีการขุดเป็นสระน้ำขึ้นตามมาในภายหลัง พิพิธภัณฑ์พระธาตุบังพวน ซึ่งเป็นห้องเล็ก ๆ อยู่ใกล้กับองค์พระธาตุ ซึ่งภายในจะเก็บซากเศษหิน ใบเสมา ศิลาจารึก ตลอดจนโบราณวัตถุของพระธาตุองค์เก่า รวมทั้งประวัติขององค์พระธาตุ สระพญานาค อยู่ในบริเวณใกล้ ๆ องค์พระธาตุ ซึ่งในสมัยโบราณเมื่อมีการแต่งตั้งผู้ใดเป็นเจ้าเมือง ก็จะนำน้ำจากสระนี้ไปสรงเพื่อเป็นสิริมงคล ในสมัยต่อมาสระพญานาคก็ทรุดโทรมลงตามกาลเวลา จนกระทั่งชาวบ้านและประชาชนที่มีจิตศรัทธาได้ร่วมกันบริจาคและทำการบูรณะสระพญานาคเพื่อใช้น้ำในสระนี้นำไปประกอบพิธีมงคลต่าง ๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล ทุกปีชาวจังหวัดหนองคายจะจัดงานนมัสการพระธาตุบังพวนขึ้นในเดือนยี่ ขึ้น 11 ค่ำ