รายงานพิเศษ
จู่ ๆ ข่าวยุบสภา-เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ก็หวนกลับมาเป็นกระแสขึ้นอีกครั้ง ในนาทีที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังผจญมรสุมโควิด-19 ระลอก 3 เมื่อโควิด-19 ประชิดแดนการเมืองทำเนียบรัฐบาล สถานการณ์ ณ นาทีนี้ จึงอยู่ในขั้นหวั่นไหว-อ่อนไหว
ตอกย้ำด้วยภาพเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์-เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ส่งข่าวถึงลูกพรรค ให้เตรียมพร้อมรับมืออุบัติเหตุการเมือง
และกลายเป็นเรื่องสยองไปอีก เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรื้อการแบ่งงานใหม่ของ 29 รัฐมนตรี ให้กลับไปรับผิดชอบพื้นที่จังหวัดตามแนวทาง “ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน” ตามจังหวัดที่ตนเองเป็น ส.ส. หรือมีฐานเสียงทางการเมืองอยู่ โกยคะแนนการเมืองตั้งแต่เนิ่น ๆ
แบ่งงาน ครม.รักษาฐานเสียง
ในคำสั่งแบ่งงานใหม่ของรัฐมนตรีพลังประชารัฐ โฟกัสในพื้นที่สำคัญ อาทิ “นายอนุชา นาคาศัย” รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะ ส.ส.ชัยนาท เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ถูกรับผิดชอบจังหวัดชัยนาท จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดลพบุรี “นายสันติ พร้อมพัฒน์” รมช.คลัง ผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ แกนนำกลุ่มเพชรบูรณ์ ได้รับมอบหมายให้คุมจังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดพิจิตร
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ประธานยุทธศาสตร์ภาคเหนือของพรรค ได้รับมอบหมายให้คุมโซนจังหวัดสงขลา จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดภูเก็ต “นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ส.ส.บัญชีรายชื่อพลังประชารัฐ ในฐานะบ้านใหญ่สิงห์บุรี รับผิดชอบจังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี
“นายสมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.ยุติธรรม หัวหอกกลุ่มสามมิตร รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดสุโขทัย จังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดตาก “นายสุชาติ ชมกลิ่น” รมว.แรงงาน และ ส.ส.ชลบุรี ถูกโยกมารับผิดชอบจังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดระนอง
ส่วนโควตาพิเศษ-ตึกไทยคู่ฟ้า “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รมว.มหาดไทยรับผิดชอบจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูนและจังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วน “นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมช.คลัง จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งทั้งเชียงใหม่ อุบลฯ อุดรฯ เป็นที่รับรู้ว่าเป็นฐานที่มั่นการเมืองอันแข็งแกร่งของพรรคเพื่อไทย
ภท.แฮบปี้ได้คุมโซนตัวเอง
ฟากภูมิใจไทย อาจกล่าวได้ว่าคำสั่งนี้ รัฐมนตรีค่ายสีน้ำเงินรับผิดชอบฐานเสียงตนเองทั้งหมด 100% อาทิ “นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม น้องชาย นายเนวิน ชิดชอบ บ้านใหญ่บุรีรัมย์ ได้คุมจังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์
“นายทรงศักดิ์ ทองศรี” รมช.มหาดไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้คุมโซนจังหวัดนครพนม จังหวัดหนองคาย และจังหวัดบึงกาฬ อันเป็นฐานที่มั่นตนเอง “นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา นายทุน-หัวหมู่ทะลวงฟันในพื้นที่ภาคใต้ของภูมิใจไทย ถูกเข็นให้รับผิดชอบจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดกระบี่
รมต.ปชป.ถูกริบพื้นที่ฐานเสียง
แต่ฝ่ายประชาธิปัตย์อาจเจ็บใจอยู่ไม่น้อย แม้หลายคนจะได้คุมพื้นที่การเมืองของตนเอง เช่น “นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน” เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ คุมโซนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดชุมพร และจังหวัดพังงา “นายสาธิต ปิตุเตชะ” ส.ส.ระยอง รมช.สาธารณสุข รับผิดชอบจังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด
แต่บางคนถูกให้รับผิดชอบพื้นที่อื่น อาทิ “นายนิพนธ์ บุญญามณี” รมช.มหาดไทย รับผิดชอบจังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล ทั้งที่ฐานการเมืองอยู่ในจังหวัดสงขลา
“นายสินิตย์ เลิศไกร” รมช.พาณิชย์ ส.ส.สุราษฎร์ธานี แต่ต้องข้ามห้วยรับผิดชอบจังหวัดหนองบัวลำภู
เพื่อไทยตั้งโซนลุย 350 เขต
ขณะที่ฝ่ายค้านตัวหลักอย่างพรรคเพื่อไทย ก็เคลื่อนไหวการเมืองขนาดย่อม ๆ เฟ้นหัวหอกระดับ “อดีตรัฐมนตรี” คุม 21 โซน 350 เขตเลือกตั้ง ไฮไลต์ฐานสำคัญๆ อาทิ โซนเหนือบน เหนือล่าง ล้วนต้องมีมือสายตรงดูไบคอยกำกับ มีนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเป็นประธาน และมี วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ยุคยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คอยช่วยคุมโซน
ขณะที่ โซนอีสาน แบ่งเป็น อีสานเหนือ อีสานกลาง และอีสานใต้ที่แยกย่อยอีก 2 โซน ที่แม้ไม่ใช่สายตรงดูไบเบอร์จ๋า แต่ก็มีดีกรีเป็นอดีตรัฐมนตรี หรือ ส.ส.หลายสมัย คอยดูแล เช่น นายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รองหัวหน้าพรรค ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ผสมกับ “เฮียเพ้ง” นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ผู้มากบารมีระดับ “สายตรง” ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษา
รื้อทีม “เจ๊หน่อย”
ข้ามมาที่ภาค กทม. มีการแบ่งแยกโซน ตามความรับผิดชอบเป็น 6 โซน เพื่อรื้อโครงสร้างเดิมของสมัยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ไปก่อตั้งพรรคไทยสร้างไทย แต่เดิมกลุ่ม “คุณหญิงหน่อย” คุมคนเดียวทั้งหมดมาแบ่งโซนรับผิดชอบ โดยให้ “อดีตรัฐมนตรีเพื่อไทย” เป็นประธานคุมโซน
มีมือระดับ “สายตรง” ทักษิณ ชินวัตร คอยกำกับเช่นกัน ตัวอย่างเช่น โซน กทม. 1 ประกอบด้วย เขตพระนคร ป้อมปราบฯ สัมพันธวงศ์ ดุสิต ปทุมวัน บางรัก สาทร บางคอแหลม ยานนาวา คลองเตย วัฒนา ถือว่าเป็น “ใจกลาง” กรุงเทพฯ ต้องมีมือระดับ “เฮียเพ้ง” นายพงษ์ศักดิ์ เป็นประธาน
เช่นเดียวกับ โซน กทม. 2 เขตดินแดง ห้วยขวาง พญาไท ราชเทวี จตุจักร บางซื่อ หลักสี่ ลาดพร้าว วังทองหลาง มี นางพวงเพ็ชร์ ชุณละเอียด อดีตแกนนำไทยรักษาชาติ เป็นประธาน
ส่วน โซน กทม. ที่เคยเป็นเขตอาณาจักรของลูกทีม “คุณหญิงสุดารัตน์” เช่น โซน ดอนเมือง สายไหม บางเขนบึงกุ่ม คันนายาว มีนบุรี บางกะปิ มีอดีตลูกทีม “วิชาญ มีนชัยนันท์” อดีต รมช.สาธารณสุข ที่ไม่ตามไปอยู่พรรคใหม่ เป็นประธาน
โซน กทม. 5 และ กทม. 6 (ฝั่งธน) อาทิ เขตคลองสาน บางกอกใหญ่ ธนบุรี จอมทอง ราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ บางขุนเทียน บางบอน หนองแขม ทวีวัฒนา ตลิ่งชัน บางแค ภาษีเจริญ ต้องให้มือสายตรงทักษิณ – ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่าง กิตติรัตน์ ณ ระนอง และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ช่วยกันดูแล
แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยชี้ว่า การปรับโครงสร้างดังกล่าวเป็นการเตรียมพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง ทั้ง 350 เขตเลือกตั้งซึ่งเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะกลับมาเป็นบัตร 2 ใบ จะทำให้พรรคเพื่อไทยได้เปรียบอีกครั้งหนึ่ง และพร้อมสำหรับเฟ้นหาผู้สมัคร ส.ก. และ ส.ข. ที่อาจเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้
กม.พรรคการเมืองบีบให้ขยับ
อีกด้านหนึ่งยังเห็นพรรคเกิดใหม่ขึ้นหลายพรรค เช่น ไทยสร้างไทย ของ “คุณหญิงสุดารัตน์” พรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งมีข่าวลือว่าเป็นพรรคสำรองของ 3 ป.ผู้มีอำนาจ
พรรคเส้นทางใหม่ ซึ่งมีเสียงเล็ดลอดว่า “จาตุรนต์ ฉายแสง” อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ เตรียมเป็นหัวหน้าพรรค
ทว่า “จาตุรนต์” ที่ยังรอการคิกออฟพรรคใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง อ่านสัญญาณการตั้งพรรค-พร้อมรับสถานการณ์ร้อน
เมื่อก่อนแค่ยุบสภาแล้วตั้งพรรคขึ้นก็ลงสมัครกันได้เลย แต่เดี๋ยวนี้กฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมืองกำหนด ต้องมีตัวแทนเขต เขตละ 1 คน ก็ต้องมี 350 เขต ถ้าจะส่งทั่วประเทศ ต้องมีสมาชิกพรรคมากกว่า 35,000 คน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก ต้องใช้เวลา
อีกอย่างความรู้สึกว่าการเมืองไม่แน่นอน ถ้ามีการยุบสภาขึ้นมา ไม่มีตัวแทนเขต ก็ส่งผู้สมัครไม่ได้ จึงเกิดความเคลื่อนไหวมากขึ้น แต่ส่วนตัวยังไม่เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์จะยุบสภา หรือรัฐบาลจะล้มในเร็ว ๆ นี้
“แน่นอนคนที่คิดเรื่องพรรคการเมือง ต้องกันเอาไว้ก่อน เพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเมื่อไหร่”
จากรายชื่อคนคุมโซนทั้งฝ่ายค้าน-รัฐบาล เลือกตั้งครั้งหน้าเปิดศึกกันเดือด