กรมราง ประชุมหาทางออก แบบก่อสร้างสถานีอยุธยา”รถไฟไทย-จีน” สรุป 5 แนวทาง เสนอคณะกรรมการคุ้มครองมรดกโลกพิจารณา ทั้งปรับแบบเป็นใต้ดิน เบี่ยงแนวเลี่ยงพื้นที่มรดกโลก ปรับตำแหน่งสถานี หรือ ทำแค่ทางวิ่ง โดยไม่มีสถานี
วันนี้ (18 พ.ค.64) นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการดำเนินการก่อสร้างสถานีอยุธยา โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) โดยมีการพิจารณา การก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา เพื่อนำเสนอข้อมูลดังกล่าวให้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก พิจารณาในวันที่ 24 พฤษภาคม 2564
โดยมี 5 แนวทาง ได้แก่
1. ก่อสร้างเป็นลักษณะสถานีและทางวิ่งใต้ดิน
2. ก่อสร้างเส้นทางรถไฟเลี่ยงพื้นที่มรดกโลก
3. ก่อสร้างสถานีก่อนถึงสถานีรถไฟอยุธยาเดิม หรือเลยออกไป
4. ก่อสร้างสถานีในตำแหน่งสถานีเดิมพร้อมจัดทำผังเมืองเฉพาะ
5. ก่อสร้างเฉพาะทางวิ่งไปก่อน โดยจะกำหนดที่ตั้งสถานีภายหลัง
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับ สถานีอยุธยานั้น อยู่ในช่วงการก่อสร้างสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. ที่มี บมจ.อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด 9,913 ล้านบาท ทั้งนี้การปรับแบบช่วงผ่านสถานีอยุธยา เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับการเป็นพื้นที่มรดกโลกพระนครศรีอยุธยา อย่างไรก็ตามหากต้องปรับแนวเส้นทางออกไปจากแนวเดิม จะกระทบต่อโครงการโดยรวมที่ต้องล่าช้าออกไป 5-6 ปี