หมอเตือน‼ เจ้าของหมา-แมว ระวังถูกกัด แม้เป็นสัตว์เลี้ยงของตัวเอง
หมอเตือน‼ เจ้าของหมา-แมว ระวังถูกกัด แม้เป็นสัตว์เลี้ยงของตัวเอง
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น เตือนประชาชนที่เลี้ยงสุนัขหรือแมว อย่าปล่อยสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านโดยไม่มีผู้ดูแล เพราะอาจถูกสัตว์อื่นกัด เสี่ยงติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้ และถ้าหากประชาชนถูกกัด ข่วน ให้รีบล้างแผล ไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และขอความร่วมมือให้นำสุนัข และแมวไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องทุกปี
นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น ได้กล่าวย้ำว่าไม่ว่าคนหรือสัตว์ หากได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว ไม่ได้รับการรักษาจนป่วยแสดงอาการแล้วจะเสียชีวิตทุกราย สำหรับสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปี 2563 ที่ผ่านมา พบผู้เสียชีวิต 3 ราย ใน 3 จังหวัด (จังหวัดหนองคาย สระแก้ว และศรีสะเกษ) ในปี 2564 นี้ พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 1 ราย ที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยได้รับรายงานเหตุการณ์ผู้เสียชีวิตรายดังกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีประวัติสัมผัสกับสุนัขของตนเองที่ถูกสุนัขจรจัดกัด สำหรับเหตุการณ์ที่มีผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้านั้น สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงที่สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย(ร้อนสลับฝนตก) อากาศที่ร้อนอาจทำให้สัตว์หงุดหงิดง่ายและอาจทำร้ายผู้ใกล้ชิดได้ โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยเชื้อจะเข้าทางบาดแผลจากการที่ถูกสัตว์ที่มีเชื้อ กัด ข่วน เลีย หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว หนู ลิง ค้างคาว แต่สัตว์ที่พบบ่อยที่สุด คือ สุนัข รองลงมาคือ แมว และวัว
จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังตนเองและบุตรหลานไม่ให้ถูกสัตว์กัดข่วน หมั่นสังเกตอาการสุนัขและแมว นำสุนัขที่เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามกำหนดเป็นประจำทุกปี ที่หน่วยบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคสุนัขบ้าฟรีในพื้นที่ของตน และขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเร่งทำความเข้าใจแก่ประชาชน ว่าหากถูกสุนัขหรือแมวกัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือทางผิวหนังที่มีบาดแผล ควรรีบปฐมพยาบาล โดยล้างแผลทันทีด้วยน้ำสะอาดและฟอกด้วยสบู่หลายๆครั้ง แล้วเช็ดแผลให้แห้ง ใส่น้ำยาฆ่าเชื้อโพวีโดนไอโอดีน สิ่งสำคัญที่สุด คือไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องครบชุดตามวันเวลาที่แพทย์นัด รวมถึงกักขังสัตว์ที่กัดสังเกตอาการอย่างน้อย 10 วัน หากสัตว์ตัวนั้นมีอาการปกติแสดงว่าไม่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าแต่หากสุนัขหรือแมวเสียชีวิต ให้รีบแจ้งอสม. ผู้นำชุมชน หรือเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ใกล้บ้านทันที
ข้อสำคัญเมื่อถูกสัตว์กัดข่วนเลีย ควรปฏิบัติคือ “ล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอฉีดวัคซีนต่อจนครบ” โดยการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าต้องให้เร็วที่สุด ให้ครบชุด และตรงตามนัดจึงจะได้ผล เพราะหากติดเชื้อพิษสุนัขบ้าและปล่อยทิ้งไว้จนเชื้อเข้าสู่ระบบประสาทแสดงอาการป่วยแล้ว จะไม่สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย ทั้งนี้หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
……………………………………………………………………………………….
ที่มา : พยากรณ์โรครายสัปดาห์ ฉบับที่ 18/2564
เผยแพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพ
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น
ศูนย์รับข้อร้องเรียนสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น
หมายเลข 043-222818-9 ต่อ 611
https://ddc.moph.go.th/odpc7/index.php