“ทีมกรุ๊ป” คาดการณ์พายุ 3 ลูกจ่อเข้าไทย ฝนหนักภาคอีสานตั้งแต่วันที่ 11-19 ตุลาคม แต่ 4 เขื่อนหลักยังรับน้ำได้อีกมาก ส่อเค้าเริ่มฤดูแล้งปี 2565 ลุ่มเจ้าพระยาน้ำจะไม่พอปลูกข้าว 3-5 ล้านไร่
วันที่ 10 ตุลาคม 2564 นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ หรือ ทีมกรุ๊ป ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ กล่าวว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากต่อเนื่องไปอีกจากพายุหลายลูก ได้แก่
1)พายุไลออนร็อก หรือ Lionrock เป็นพายุลูกที่ 17 ของปีนี้ จะเคลื่อนที่ผ่านทะเลจีนใต้และคาดว่า จะทวีกำลังเป็นพายุโซนร้อน ทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมากที่ เกาะไหหลำ ประมาณวันที่ 8-9 ต.ค. แล้วอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น เคลื่อนตัวไปขึ้นฝั่งประเทศเวียดนาม ทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมากที่กรุงฮานอย ประมาณวันที่ 10 ต.ค.และเคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศลาว
โดยพายุลูกนี้จะส่งผลต่อประเทศไทย จะทำให้ในวันที่ 10 -12 ตุลาคม มีฝนตกปานกลางถึงหนัก ในพื้นที่จังหวัดนครพนม สกลนคร บึงกาฬ หนองคาย อุดรธานี กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และมีฝนตกปานกลาง ในพื้นที่ภาคอิสานจะมีฝนตกหนักเป็นหย่อมๆ กระจายตัวอยู่ทั้งภาคอิสานด้วย
โดยมีพื้นที่ที่เสี่ยงจะเกิดน้ำท่วม ได้แก่ อำเภอนาหว้า, ศรีสงคราม, ท่าอุเทน พื้นที่โดยรอบภูพาน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร อ.โคกศรีสุพรรณ, อ่างฯน้ำอูน, โพนพิสัย ตังหวัดอุดรธานี, อ.เสลภูมิ พื้นที่ที่อยู่สองตลิ่งลำน้ำชี ตั้งแต่ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ไปจนถึง จ.ยโสธร
2)พายุคมปาซุ หรือ kompasu กำลังก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก นับเป็นพายุลูกที่ 18 ของปีนี้ เคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันตก คาดว่าจะไปทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมาก ในพื้นที่ตอนบนของประเทศฟิลิปปินส์ประมาณวันที่ 11 ต.ค. แล้วเคลื่อนที่ ไปทำให้ฝนตกหนักในตอนใต้ของจีนเหนือเกาะไหหลำ ประมาณวันที่ 12 ต.ค. . .
โดยพายุลูกนี้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า จะขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนาม กรุงฮานอย หรือ ขึ้นฝั่งที่เมืองวิญ หรือ เมืองดานัง หรือ อาจจะสลายตัวไปประมาณวันที่ 13-14 ต.ค. ก็ได้
ส่วนผลต่อประเทศไทยคาดว่า มีโอกาสระหว่างวันที่ 13-15 ต.ค. อาจจะมีฝนตกปานกลางกระจายตัว โดยมีฝนตกหนักเป็นบริเวณเล็กๆเป็นหย่อมๆ กระจายตัวอยู่ ในพื้นที่ภาคอิสาณ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และ ภาคตะวันตก ใน จว.กาญจนบุรี-ราชบุรี-เพชรบุรี และ ประจวบคีรีขันธ์
โดยมีพื้นที่ที่เสี่ยงจะเกิดน้ำท่วม ได้แก่ อำเภอนาหว้า, ศรีสงคราม, ท่าอุเทน พื้นที่โดยรอบภูพานที่อำเภอพรรณานิคม จ.สกลนคร, โคกศรีสุพรรณ อ่างฯน้ำอูน อ.โพนพิสัย , จ.อุดรธานี อ.เสลภูมิ
พื้นที่ที่อยู่สองตลิ่งลำน้ำชี ตั้งแต่ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ไปจนถึง จ.ยโสธร ชุมชนที่อยู่สองตลิ่งแม่น้ำมูล ตั้งแต่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ไปจนถึง อ.พิบูลย์มังสาหาร จ.อุบลราชธานี และพื้นที่ที่อยู่สองตลิ่งลำน้ำป่าสัก ตั้งแต่ อำเภอวิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ และ อ.ท่าเรือ พระนครศรีอยุธยา
3)พายุดีเปรสชั่น ลูกที่ 19 กำลังก่อตัวขึ้นในบริเวณทะเลจีนใต้ คาดว่า จะไปทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมาก ในพื้นที่ตอนใต้ของเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ประมาณวันที่ 17 ต.ค. แล้วเคลื่อนที่ ไปทำให้ฝนตกหนักในตอนใต้ของ สปป. ลาว
โดยพายุลูกนี้ต้องติดตามให้ใกล้ชิดว่า จะเคลื่อนตัวมาในทิศทางใดแน่หรืออาจจะสลายตัวไปประมาณวันที่ 18 ต.ค.
ส่วนผลกระทบต่อประเทศไทย คาดว่า มีโอกาสที่จะทำให้ระหว่างวันที่ 17-19 ต.ค นี้อาจจะมีฝนตกปานกลางกระจายตัว โดยมีฝนตกหนักเป็นบริเวณเล็กๆ เป็นหย่อมๆ กระจายตัวอยู่ ในพื้นที่ภาคอิสาณ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก บริเวณ จ.กาญจนบุรี , ราชบุรี , เพชรบุรี และ ประจวบคีรีขันธ์ จัดเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงจะเกิดน้ำท่วมเช่นเดียวกันกับพายุคมปาซุ
สำหรับสถานการณ์น้ำใช้งานได้จริงเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2564 ปรากฏมี ปริมาณในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล , เขื่อนสิริกิติ์ , เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวมกัน 6,350 ล้าน ลบม.หรือคิดเป็นร้อยละ 35 เท่านั้น
ทั้งนี้ เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำใช้การได้จริง 3,180 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 33 , เขื่อนสิริกิติ๋ 1,441 ล้าน ลบ.ม หรือร้อยละ 22 , เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 857 ล้าน ลบ.ม หรือร้อยละ 91 และ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 873 ล้าน ลบ.ม หรือร้อยละ 35 คาดว่า จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2564 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้จริงไม่เกิน 8,000 ล้าน ลบ.ม
ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำในฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ไปจนถึงเดือนเมษายน 2565 ใน 22 จังหวัดภาคกลางที่จะต้องใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำหลักทั้ง 4 แห่งนี้มีความต้องการใช้น้ำตามปกติสูงถึง 12,000 ล้าน ลบ.ม. หรือหากจะใช้น้ำอย่างประหยัดสุดๆก็จะต้องการใช้น้ำถึง 10,000 ล้าน ลบ.ม.
ดังนั้นในการจัดสรรและบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทาน จะต้องให้ความสำคัญตามลำดับก่อนหลัง เช่น น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการรักษาคุณภาพระบบนิเวศวิทยา น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม และ น้ำเพื่อการเกษตร
ซึ่งในที่สุดคาดว่า จะไม่ส่งน้ำให้กับการปลูกข้าวหลังจากวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป(ซึ่งในปีปกติ จะมีการปลูกข้าวในฤดูแล้ง 3 ล้านถึง 5 ล้านไร่)
“เกษตรกรต้องปรับตัวไปปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อย ผู้ใช้น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม สถานประกอบการ และในทุกครัวเรือน จะต้องช่วยกันประหยัดการใช้น้ำ” นายชวลิตกล่าว