ภูมิภาค
ม.ราชภัฎสกลนคร จัดประชุมแบบออนไลน์ หนุนเลี้ยงหอยเชอรี่สีทองในนาข้าว
วันศุกร์ ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565, 19.23 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
วันที่ 25 กุมภาพันธุ์ 2565 ที่หอประชุมจามจุรี มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร ศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ผู้อำนวยการศูนย์เป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศาสตราจารย์ ดร.ทศวรรษ สีตะวัน รองอธิการมหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร ร่วมกันเปิดประชุมสัมมนาแบบผสมผสาน ในหัวข้อ”บนทางหลายแพร่ง อันเนื่องมาจากการเพาะเลี้ยงหอยเชอรี่สีทอง” ซึ่งเป็นการประชุมสัมมนาแบบออนไลน์ มีผู้เข้าร่วมประชุมจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศ กว่า 300 ราย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร,มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย,สำนักงานประมงจังหวัดสกลนคร,มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุดรธานี, เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการที่จะเริ่มต้นฟื้นฟูหอยโข่งในธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ทั้งจากหอยโข่งสายพันธุ์ไทยและหอยเชอรี่ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันในการกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกันตลอดจนการวิจัยที่เกี่ยวข้องต่อเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการส่งเสริมเกษตรกรให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
ดร.สมศักดิ์ ปัญหา กล่าวว่า หอยโข่งและหอยเชอรี่ สามารถเลี้ยงได้ในนาข้าว เพราะมูลจากหอยเชอรี่จะเป็นปุ๋ยอย่างดีสำหรับข้าว หอยเชอรี่สามารถแบ่งหอยเชอรี่ได้ 2 พวก คือ พวกที่มีเปลือกสีเหลืองปนน้ำตาล เนื้อและหนวดสีเหลือง และพวกมีเปลือกสีเขียวเข้มปนดำ เจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ลูกหอยอายุเพียง 2 – 3 เดือน จะจับคู่ผสมพันธุ์ได้ตลอดเวลา หลังจากผสมพันธุ์ได้ 1 – 2 วัน ตัวเมียจะวางไข่ในเวลากลางคืน โดยคลานไปวางไข่ตามที่แห้งเหนือน้ำ เช่น ตามกิ่งไม้ ต้นหญ้าริมน้ำ โคนต้นไม้ริมน้ำ ข้าง ๆ คันนา และตามต้นข้าวในนา ไข่มีสีชมพูเกาะติดกันเป็นกลุ่มยาว 2 – 3 นิ้ว แต่ละกลุ่มประกอบด้วยไข่เป็นฟองเล็ก ๆ เรียงตัวเป็นระเบียบสวยงาม ประมาณ 388 – 3,000 ฟอง ไข่จะฟักออกเป็นตัวหอยภายใน 7 – 12 วัน หลังวางไข่ เนื้อหอยเชอรี่มีโปรตีนสูงถึง 34 – 53 เปอร์เซ็นต์ ไขมัน 1.66 เปอร์เซ็นต์ ใช้ประกอบอาหารและแปรรูปได้หลายอย่าง เช่น ส้มตำ ปิ้งย่าง ลูกชิ้น เนื้อหอยเชอรี่ ยังใช้ทำเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง เช่น เป็ด ไก่ สุกร เป็นต้น
นอกจากนี้ เปลือกก็สามารถปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินได้ หรือนำไปป่นเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโปรตีน ตัวหอยทั้งเปลือกถ้านำไปฝังบริเวณทรงพุ่มไม้ผล เมื่อเน่าเปื่อยก็จะเป็นปุ๋ยทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตเร็ว และได้ผลผลิตดี สถาบันหัวใจและปอดแห่งชาติของแคนาดา ระบุว่า หอยเชอรี่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร คือเป็นแหล่งของวิตามินเอ วิตามินบีหนึ่ง (ไทอามีน) วิตามินบีสอง (ไรโบเฟลวิน) วิตามินบีสาม (ไนอาซิน) วิตามินซี (กรดแอสคอร์บิค) และวิตามินดี (แคลซิฟีรอล) การบริโภคหอยเชอรี่ช่วยให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุประเภท แร่เหล็ก ทองแดง ไอโอดีน แมกนีเซียม แคลเซียม สังกะสี แมงกานีส และฟอสฟอรัส อย่างไรก็ตาม หอยเชอรี่ดิบอาจมีพยาธิและแบคทีเรีย จึงควรหลีกเลี่ยง แต่ปัจจุบันหอยชนิดนี้เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมอย่างสูงด้วยรสชาติที่อร่อย
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่