ข่าวทั่วไป
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ระยะนี้ สถานการณ์ภาพรวมของประเทศจะมีแนวโน้มฝนตกลดลง แต่บางจุดยังมีฝนตกต่อเนื่องและตกหนักในบางพื้นที่ โดยประเมินสภาพฝน พบว่า ฝนจะกลับมาตกเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 25-27 ส.ค. 65 และลดลงอีกครั้งในช่วงวันที่ 28-29 ส.ค. 65 ซึ่งจะมีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง
สำหรับสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 25 ส.ค. 65
- ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
- ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.บุรีรัมย์ (121 มม.) จ.นครราชสีมา (112 มม.) และ จ.ปราจีนบุรี (82 มม.)
- เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำชีล้นตลิ่งในพื้นที่ จ.มหาสารคาม จ.กาฬสินธุ์ จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร จ.ศรีสะเกษ จ.อุบลราชธานี ในช่วงวันที่ 26-31 ส.ค. 65
- เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงวันที่ 24-29 ส.ค. 65 ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้น ประมาณ 1.90-2.20 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่ จ.นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร
- เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน บริเวณ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน พิษณุโลก เพชรบูรณ์อุตรดิตถ์ ตาก กาฬสินธุ์ นครพนม บึงกาฬ สกลนคร หนองคายอุดรธานี อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ นครนายก ระยอง จันทบุรี และตราด
- พื้นที่ประสบอุทกภัย ในระหว่างวันที่ 15-24 ส.ค. 65 ยังคงมีสถานการณ์ในบริเวณพื้นที่ จ.พิษณุโลก อุบลราชธานี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และปราจีนบุรี
- แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
- ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 51,154 ล้าน ลบ.ม. (62%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 44,603 ล้าน ลบ.ม. (62%) เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม แควน้อย ป่าสักชลสิทธิ์ อุบลรัตน์ น้ำพุง หนองปลาไหล และบึงบอระเพ็ด
ทั้งนี้ กอนช. ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ พร้อมเร่งระบายน้ำจากแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ฝนตกน้อยลง เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำไว้ล่วงหน้า โดยต้องไม่ส่งผลกระทบกับประชาชน และมอบหมายให้กรมชลประทานประเมินสถานการณ์ เพื่อพิจารณาปรับเพิ่มอัตราการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งปัจจุบันมีการระบายน้ำในอัตรา 1,500 ลบ.ม. ต่อวินาที
สำหรับเขื่อนอุบลรัตน์ ขณะนี้มีการปรับเพิ่มการระบายแบบขั้นบันได จาก 15-25 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน จนถึงวันที่ 27 ส.ค. 65 เขื่อนป่าสักฯ ปรับการระบายเป็น 500 ลบ.ม.ต่อวินาที จนถึงปลายเดือนส.ค. นี้ โดยปัจจุบันลุ่มน้ำป่าสักตอนบนระดับน้ำเริ่มลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้ว ซึ่งมวลน้ำหลากนี้จะไหลลงเขื่อนป่าสักฯ และบริเวณลุ่มน้ำป่าสักตอนล่างท้ายเขื่อนป่าสักฯ ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง โดยปัจจุบันได้มีการเร่งดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อช่วยเหลือประชาชนแล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ส.ค. 65)
Tags: lifestyle, กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ, กอนช., น้ำท่วม, น้ำทะเลหนุนสูง, ฝนตก, สุรสีห์ กิตติมณฑล