คณะกรรมการ Medical Hub เห็นชอบเตรียมเปิดประเทศพื้นที่ท่องเที่ยว เพิ่ม 4 จังหวัด, ดันไทยศูนย์กลางการผลิตวัคซีน, ศูนย์กลางการส่งเสริมสุขภาพ และศูนย์กลางสมุนไพร หวังปั้นไทยขึ้นแท่นฮับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
วันที่ 1 กันยายน 2564 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบาย Medical Hub) ครั้งที่ 2/2564 มีมติเห็นชอบในหลักการ 5 เรื่อง ดังนี้
1.แนวทางและมาตรการในการเปิดประเทศภายใน 120 วันตามนโยบายรัฐบาล ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่, พัทยา, หัวหิน และพื้นที่ท่องเที่ยวนำร่องเพิ่มเติม ได้แก่ เชียงคาน จ.เลย และ จ.หนองคาย รวมถึงพื้นที่เกาะกูด เกาะช้าง จ.ตราด และเกาะเสม็ด จ.ระยอง ในรูปแบบ bubble and seal route และมอบให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยบรรจุในแผนเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยว เสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
2.ผลักดันให้มีการผลิตวัคซีนทั้ง 4 ชนิด เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตวัคซีนของประเทศไทย ได้แก่ วัคซีน ChulaCov19 โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วัคซีนใบยา โดยบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด, วัคซีนโควิด 19 HXP – GPO Vac โดยองค์การเภสัชกรรม และวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) แบบพ่นจมูก โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โดยเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาสนับสนุนงบประมาณ และให้ อย. ลดระยะเวลาการขึ้นทะเบียนอนุญาต
3.เห็นชอบแผนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและการประชาสัมพันธ์ ในงาน World Expo 2025 Osaka Kansai ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนเมษายน – ตุลาคม 2568 ในการเข้าร่วมการจัดศาลาไทยในธีม การส่งเสริมสุขภาพทุกช่วงวัย รวมทั้งเป็นการเฉลิมฉลองเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย และญี่ปุ่น
ตลอดจนให้ประเทศไทยเข้าร่วมประมูลสิทธิ์ในการจัดนิทรรศการนานาชาติเพื่อเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialized Expo 2028 เดือนสิงหาคม-ตุลาคม ปี 2571 ที่จังหวัดภูเก็ต
เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและส่งเสริมสุขภาพ (Medical and Wellness Tourism) และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
4.การพัฒนา Wellness Hub ของประเทศไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานนวดไทยและสปาไทยในลักษณะ Wellness ให้มีมาตรฐานระดับนานาชาติ โดยประสานงานกับสมาคม/ สมาพันธ์/ ชมรม ในประเทศไทย เชื่อมโยงการทำงานร่วมกับสมาพันธ์โลกนวดไทย & สปา และจัดทำโครงการบูรณาการร่วมกันทุกกระทรวง
5.เปิดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพรองรับการเป็นศูนย์กลางสมุนไพรโลก นำผลิตภัณฑ์กัญชา และสมุนไพรต้านโควิด 19 มาจำหน่ายในเส้นทางการท่องเที่ยวนำร่องใน 4 เส้นทาง รวม 9 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี สกลนคร นครพนม หนองคาย เลย หนองบัวลำภู บึงกาฬนครราชสีมา ปราจีนบุรี (อภัยภูเบศร) และบุรีรัมย์ (โนนมาลัยโมเดล)