“ศักดิ์สยาม” ติดตามความคืบหน้าแผนพัฒนา MR–Map 10 เส้นทาง “มอเตอร์เวย์–ระบบราง” รวม 4,321 กม. ลุยนำร่อง 3 เส้นทาง สั่งจัด Road Show “แลนด์บริดจ์” ชุมพร–ระนอง ดึงความสนใจนักลงทุน
25 ก.พ.2565 – นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่าถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนการศึกษาแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-Map) ว่าที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าผลการดำเนินงานศึกษาจัดทำ MR-Map ของกรมทางหลวง (ทล.) ปัจจุบันได้จัดทำร่างแผน MR-Map แล้วเสร็จ 10 เส้นทาง โดยมีปรับแนวเส้นทางบางช่วงทำให้มีระยะทางรวมประมาณ 7,003 กิโลเมตร(กม.) มีเส้นทางที่พัฒนาเป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ร่วมกับระบบรางทั้งหมด 4,321 กม. แบ่งเป็นแนวเหนือ-ใต้ 3 เส้นทาง แนวตะวันออก-ตะวันตก 6 เส้นทาง และวงแหวนรอบกรุงเทพมหานครรอบที่ 3 จำนวน 1 เส้นทาง
สำหรับผลการดำเนินงานในโครงการนำร่องฯ จำนวน 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 878 กม. ได้แก่ 1.เส้นทาง MR2 กรุงเทพฯ/ชลบุรี (แหลมฉบัง)-หนองคาย (ด่านหนองคาย) ช่วงนครราชสีมา-แหลมฉบัง 313 กม. 2.เส้นทาง MR5 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์)-อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา-อุบลราชธานี 474 กม. และ 3.เส้นทาง MR8 ชุมพร-ระนอง 91 กม.
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบเส้นทางเบื้องต้น และจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น โดยผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการพัฒนาโครงการโดยบูรณาการมอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบราง แต่ยังมีข้อกังวลในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ 1.โครงข่ายแนวเส้นทางควรหลีกเลี่ยงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ชุมชนเมืองให้มากที่สุด ควรพิจารณาให้รอบคอบเรื่องการเวนคืนพื้นที่พร้อมกันทั้งมอเตอร์เวย์และระบบราง ความเป็นไปได้ทางกฎหมายร่วมด้วย และจัดลำดับความสำคัญแผนแม่บท เพื่อประโยชน์ต่อนักลงทุนและประชาชน
และ 2.การออกแบบแนวเส้นทาง โดยการออกแบบมอเตอร์เวย์ควรมีถนนบริการและจุดกลับรถในพื้นที่ที่ผ่านชุมชน เพื่ออำนวยความสะดวกสบายในการเข้า-ออกพื้นที่ ควรออกแบบเป็นทางยกระดับในพื้นที่ที่ต้องผ่านชุมชนหรือพื้นที่ที่เป็นที่ราบลุ่มต่ำ และสิ่งสำคัญในการออกแบบ จะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อพื้นที่ระบายน้ำ/พื้นที่น้ำท่วม อีกทั้งขอให้พิจารณาการใช้เขตทางให้เหมาะสมทั้งมอเตอร์เวย์และทางรถไฟ
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ได้เน้นย้ำการใช้พื้นที่ให้คุ้มค่า ลดผลกระทบกับประชาชน และเส้นทางที่ออกแบบจะต้องสั้นและตัดตรง ซึ่งจะต้องพิจารณาการใช้โครงสร้างอุโมงค์และสะพานบก เพื่อทำให้เส้นทางมีความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย โดยพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้รอบด้าน โดยโครงการที่จะเป็นโครงการนำร่องทั้ง 3 เส้นทาง ทล. จะต้องดำเนินการออกแบบในขั้น Definitive Design ให้แล้วเสร็จ เพื่อสามารถกำหนดกรอบวงเงินการลงทุนที่ชัดเจน ที่สามารถใช้ประกอบกับเอกสารเชิญชวนผู้รับจ้าง เพื่อที่จะผลักดันโครงการให้เป็นรูปธรรมต่อไป
ทั้งนี้ได้เน้นให้มีการประชาสัมพันธ์เชิงรุก เช่น การสร้างความรับรู้ของประชาชน การทำ Roadshow ของโครงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะเส้นทาง MR8 (แลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง) เพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุนต่อไป