เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ – กระแสข่าวผักผลไม้จีนทะลักเข้าไทยเป็นหนึ่งในประเด็นร้อนที่ถูกจับตาอย่างมาก หลังเปิดวูดเส้นทางรถไฟระหว่างนครคุนหมิง-เวียงจันทน์ (สปป.ลาว) เชื่อมระบบโลจิสติกส์ภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2564 ด้วยเกรงว่า จะทำให้เกษตรกรไทยต้องเผชิญกับความยากลำบากมากกว่าเดิมหลังจากก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจาก “ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนปี 2546” ตั้งแต่ช่วงปี 2546 ซึ่งแม้ไทยส่งออกพืชผลทางการเกษตรไปขายยังจีนได้มากขึ้น แต่จีนก็ส่งสินค้าเกษตรมาขายยังไทยได้จำนวนมหาศาล โดยเฉพาะพืชผักเมืองหนาวชนิดเดียวกับที่ปลูกในประเทศไทย
ตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ ที่ก่อนหน้านี้ก็คือ ปรากฎการณ์ “บอนสีจีน” ทะลักตลาดต้นไม้ไทย บอนสีซึ่งจัดเป็นพืชอยู่ในพิกัด 0602.90.90 ตามข้อตกลงการค้าเสรีไทย-จีน ที่มีอัตราอากรเป็น 0% หรือปลอดภาษี รวมทั้งยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยฃ ระยะเวลาเพียง 4 เดือน (มิ.ย. – ก.ย. 2564) มีการนำเข้าบอนสีจากจีนเพิ่ม 40 เท่า ผ่านด่านศุลกากรเชียงของ จ.เชียงราย ด่านชายแดนบนแนวเส้นทาง R3a เชื่อมจีน-สปป.ลาว-ไทย นับรวมมูลค่าเพียง 4 เดือน เป็นเงินจำนวนกว่า 22 ล้าน และปริมาณบอนสีกว่า 9 แสนต้น เฉลี่ยต้นละประมาณ 23.24 บาท แต่ราคาขายในตลาดต้นไม้เมืองไทยทะยานหลักร้อย จนมีการตั้งข้อสังเกตว่าทุนจีนปั่นราคาหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้นายทุนจีนไม่เคยนำเข้าสินค้าประเภทบอนสีมาก่อนเลย จวบจนกระทั่งกระแสความนิยมบอนสี ตลอดจนพืชใบด่างในเมืองไทย
มาวันนี้กระแสข่าวผักผลไม้และต้นไม้จากจีนทะลักจึงเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องจับตา
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยรายละเอียดว่า เส้นทางรถไฟระหว่างนครคุนหมิง-เวียงจันทน์ (สปป.ลาว) ซึ่งเปิดบริการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 โดยจีนได้มีการทดลองขนส่งผักมาไทย จำนวน 33 ตู้ และจะมีไม้ตัดดอกเข้ามาอีก 2 ตู้ในวันที่ 15 ธันวาคม และผักอีก 26 ตู้ในวันที่ 18 ธันวาคม 2564 ส่วนใหญ่มาจากการเปลี่ยนการขนส่งจากรถเทรลเลอร์บนเส้นทาง R3A เป็นรถไฟเพราะด่านโมฮ่านของจีนติดขัดแออัดอย่างหนักเพราะมาตรการป้องกันโควิด และจำนวนผักนำเข้าจากจีนที่มาผ่านเส้นทางรถไฟดังกล่าวจัดเป็นปริมาณที่น้อยมาก
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ มีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้ามากว่า 1 ปี หลังจากมีการทดลองขนส่งล็อตแรกของจีนมาไทยได้สำเร็จ ได้มีการประชุมกับสมาคมและสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทยและให้ติดต่อกับบริษัทจีน เพื่อร่วมมือในการส่งออกสินค้าเกษตร
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่ากระแสข่าวรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ขนผักมาขายในไทย สร้างความปริตกแก่เกษตรกรและผู้ค้าผักชาวไทยไม่น้อย ต่างกังวลว่าผักต่างๆ ที่ส่งมาจากจีนจะทำให้ราคาผักชนิดเดียวกันในประเทศตกลงหรือไม่ ซึ่ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงว่า หลักการนำเข้า-ส่งออก เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประเทศของ 2 ประเทศ หรือกติกาพหุภาคี ซึ่งปัจจุบันนี้จีนสามารถส่งออกผลไม้มาไทยได้อยู่แล้ว ไทยก็สามารถส่งออกไปจีนได้เช่นกัน
สมมติว่ามีการส่งออกผลไม้เข้ามาในเมืองไทยสะดวกขึ้น ผลวิเคราะห์ระบุว่าไทยไม่อยู่ในสถานะที่จะเสียเปรียบ ถ้าดูจากสถิติตัวเลขการนำเข้า-ส่งออกผลไม้ไทยกับจีน ปัจจุบันการส่งออก-นำเข้าผลไม้ไทยไปจีนนั้น เราได้เปรียบดุลการค้าผลไม้อยู่ โดย 10 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค. -ต.ค.) ไทยส่งออกผลไม้ไปจีนเพิ่มขึ้น 74.6% และ 10 เดือนนี้ไทยส่งออกผลไม้ไปจีนเป็นมูลค่า 145,497 ล้านบาท แต่จีนส่งมาไทยเพียงแค่ 26,000 ล้านบาท ทำให้ไทยได้ดุลอยู่ประมาณ 120,000 ล้านบาท
และจากสถิติการส่งออกผลไม้ไทยไปยังประเทศจีนของกรมวิชาการเกษตร พบว่าเดือนมกราคม 2564 – ปัจจุบัน ไทยส่งออกผลไม้ไปยังประเทศจีน มีปริมาณกว่า 2 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 148,000 ล้านบาท โดยปริมาณการส่งออกผลไม้สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ทุเรียน ลำไย และมะพร้าวอ่อน ตามลำดับ
ขณะที่ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ แสดงความกังวลถึงปัญหาการทะลักเข้ามาของสินค้าเกษตรผักและผลไม้จากจีน ที่อาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทย หลังเปิดเส้นทางรถไฟจีน-ลาว อีกทั้ง สินค้าเกษตรจีนได้เปรียบทั้งด้านต้นทุนและแหล่งการผลิต โดยมีข้อเสนอแนะดังนี้
1. รัฐบาลต้องตั้งการ์ดดูแลตรวจสอบการนำเข้าสินค้าเกษตรเพื่อให้ได้มาตรฐาน 2. เกษตรกรต้องปรับตัว ปรับการผลิตสินค้าเกษตร อย่าผลิตสินค้าที่จีนผลิตได้จำนวนมาก โดยเกษตรกรไทยต้องปรับไปปลูกพืชเกษตรผสมผสาน เลี้ยงปศุสัตว์สร้างมูลค่าเพิ่ม หรือการปรับเปลี่ยนไปปลูกไม้ยืนต้นมูลค่าสูง ซึ่งจะส่งผลดีระยะยาว 3. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 1% ต่อปี เพื่อให้เกษตรกรกู้ยืมในการลงทุนเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต และ 4. มาตรการเยียวยาผลกระทบต่อผู้ที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งในกรณีสินค้าผักอาจไม่เหมาะที่จะใช้ประกันรายได้เพราะเป็นพืชอายุสั้นแต่มีความ
ทว่า ท่ามกลางกระแสข่าวผักผลไม้จีนทะลักไทย ภาคการส่งออกไทยไปยังจีนกำลังประสบปัญหาโดนเตะสกัดนำเข้า นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าผลไม้และส่งออกผลไม้ไทย เปิดเผยว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนเริ่มกีดกันทางการค้ากับประเทศไทยที่ไม่ใช่ภาษี เช่น ทุเรียน จีนมีมาตรการตรวจโควิด ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ที่ไม่มีในโลกนี้ ใช้ระบบป้องกันขั้นสูงสุดความปลอดภัยในเรื่องของอาหาร รวมทั้งการขนส่งสินค้าเส้นทางชายแดนไทยไปจีนกำลังเป็นปัญหา การขนส่งเป็นไปอย่างล่าช้า ผักผลไม้ไทยส่งออกไปจีนเน่าเสียสภาพไม่สวย ต่างจากผักผลไม้ผักจีนซึ่งมีการทดลองนำมาทางรถไฟจีนลาวก่อนแล้ว
ขณะที่นายจุรินทร์ตอบประเด็นการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า โดยไม่ใช่มาตรการทางภาษี (Non Tariff Barriers) ระบุว่ากระทรวงพาณิชย์ ให้ความสำคัญเรื่องผลประโยชน์ของประเทศ ยินดีรับฟังแต่ท้ายที่สุดก็ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์กติกาทั้งทวิภาคีและพหุภาคีระหว่างประเทศเป็นหลัก และหากอิงคำสัมภาษณ์ของ นายอลงกรณ์คาดว่าจะสามารถเปิดให้นำเข้าผลไม้ไทยช่วงต้นปีหน้า 2565 โดยเส้นทางรถไฟระหว่างนครคุนหมิง-เวียงจันทน์ (สปป.ลาว) จะเป็นอีกหนึ่งโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศจีน
ประเด็นถัดมาคือ เกิดคำถามว่ามาตรการตรวจสอบผักผลไม้ทั้งเรื่องคุณภาพสารและเคมีตกค้างที่จากต่างประเทศที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ โดยเฉพาะหลังจากการกระแสการทะลักของผักผลไม้จากจีนครั้งล่าสุด
ย้อนกลับไปช่วงปี 2562 ผลพวงจากการทำข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน อัตราภาษี 0 % ทำให้ผักจีนทะลักเข้ามายังไทยจำนวนมาก อีกทั้งเส้นทางที่ขนกันได้สะดวกสบายสามารถนำเข้าจากจีนผ่านเส้นทางด่านโมฮาน จีนตอนใต้ มาด่านเชียงของ ที่เชียงราย เดินทาง 3 ชั่วโมง ผ่านพิธีการนำเข้าสินค้าบริเวณด่านศุลกากร มีการสุ่มตรวจหาสารตกค้าง จากชายแดนจะลำเลียงไปยังตลาดค้าส่งแหล่งใหญ่ เช่น ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไอยรา ฯลฯ ก่อนกระจายสู่ผู้บริโภค
ในเวลาเดียวกันได้มีการตรวจสอบจาก ThaiPAN – เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พบว่าผักผลไม้ที่ขายกันตามท้องตลาดกว่า 40 % ที่มีการสุ่มตรวจพบสารเคมีตกค้าง
อย่างไรตาม หน่วยงานที่กำกับดูแลนำโดย นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้นำคณะลงพื้นที่ ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 อ.เมืองหนองคาย ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของด่านอาหารและยาหนองคาย รวมทั้งหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงมาตรการการบริหารจัดการประจำด่านพรมแดน พร้อมระบุว่า การทำงานของเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าการมีตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนจะอนุญาตให้นำเข้าประเทศ โดยตามหลักเกณฑ์การตรวจสอบผัก ผลไม้ จะมีมาตรการคุมเข้ม ด้วยการตรวจสอบหนังสือรับรองมาตรฐานระบบการผลิตอาหาร การสุ่มตรวจผักผลไม้โดยใช้เกณฑ์ความเสี่ยงที่อาจจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค หากพบว่ามีผักผลไม้เคยมีประวัติตกมาตรฐานจะกักกันสินค้าไม่ให้เข้าประเทศ และตรวจสอบว่ามีสารเคมีอันตรายตกค้างหรือไม่ หากพบว่าไม่มี จึงจะตรวจปล่อยสินค้า แต่หากพบมีการปนเปื้อนสารตกค้างจะไม่อนุญาตให้นำเข้าและจะมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย ขั้นตอนการตรวจสอบใช้เวลา 5 – 7 วัน ตลอดจนมีการทำงานเชิงรุกโดยพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์เบื้องต้นที่ด่านอาหารและยาหนองคาย เพื่อใช้คัดกรองความเสี่ยงของผักผลไม้ อำนวยความสะอวกในการนำเข้าสินค้าประเภทผักผลไม้ได้รวดเร็วขึ้นควบคู่กับการคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค
ถึงตรงนี้ คงต้องบอกว่า ที่ผ่านมาผักผลไม้จากจีนนำเข้ามาในไทยจำนวนมหาศาล ตั้งแต่ยังไม่เปิดเส้นทางรถไฟระหว่างนครคุนหมิง-เวียงจันทน์ (สปป.ลาว) ซึ่งนับจากนี้เปิดเส้นทางโลจิสติกส์ใหม่อย่างเป็นทางการแล้ว ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า เกษตรกรไทยจะได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้.