เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: โรม บุนนาค
ในปี พ.ศ.๒๕๐๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ มีพระราชดำริที่จะจัดสร้างพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่ง สำหรับพระราชทานให้ประดิษฐานประจำจังหวัดต่างๆทั่วราชอาณาจักร แทนการพระราชทานพระแสงราชศัสตราดังที่เคยมีมาในรัชกาลก่อนๆ เพื่อให้เป็นที่ตั้งแห่งคุณพระรัตนตรัย อันเป็นที่เคารพสูงสุดแล้ว ทั้งยังเป็นนิมิตหมายของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนไทยทั้งชาติ
ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ ศาสตราจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการกองหัตถศิลป กรมศิลปากร ผู้มีฝีมือทางปั้นภาพเหมือน ซึ่งต่อมาเป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๒๙ ปั้นหุ่นพระพุทธปฏิมาขึ้นที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๒๓ เซนติเมตร สูง ๔๐ เซนติเมตร ทรงตรวจพระพุทธลักษณะจนเป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว จึงโปรดเกล้าฯให้หล่อเททองพระพุทธรูปขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๐๙ ที่ฐานบัวหงายของพระพุทธรูปทรงบรรจุพระพิมพ์ไว้ ๑ องค์ ซึ่งเป็นพระพิมพ์ที่ทรงสร้างขึ้นด้วยพระหัตถ์พระองค์เอง เรียกกันว่า “สมเด็จจิตรลดา” พระราชทานพระนามพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่นี้ว่า “พระพุทธนวราชบพิตร”
ที่ฐานของพระพุทธนวราชบพิตรมีข้อความจารึกเป็นภาษาบาลีมีความหมายว่า
“คนชาติไทยจะรักษาความเป็นไทยอยู่ได้ด้วย มีสติ สำนึกอยู่ในความสามัคคี”
จากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานด้วยพระองค์เอง โดยเริ่มแห่งแรกที่จังหวัดหนองคายในวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๑๐ ในโอกาสนั้นทรงมีพระราชดำรัสแก่ชาวหนองคายมีความตอนหนึ่งว่า
“ …ข้าพเจ้ามาเยี่ยมท่านคราวนี้ ได้นำพระพุทธนวราชบพิตรมามอบให้ด้วย พระพุทธรูปองค์นี้ข้าพเจ้าสร้างขึ้นเพื่อมอบไว้เป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัด ที่ฐานบัวหงายข้าพเจ้าได้บรรจุพระพิมพ์องค์หนึ่ง ซึ่งทำขึ้นด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ อันได้มาจากจังหวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร…พระพุทธนวราชบพิตรองค์นี้ นอกจากจะถือว่าเป็นนิมิตหมายแห่งคุณพระรัตนตรัย อันเป็นที่เคารพสูงสุดแล้ว ข้าพเจ้ายังถือเสมือนเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศไทย และความสามัคคีกลมเกลียวกันของประชาชนชาวไทยอีกด้วย ข้าพเจ้าจึงได้บรรจุพระพิมพ์ที่ทำขึ้นด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ทั่วราชอาณาจักรดังกล่าว และนำมามอบให้แก่ท่านด้วยตนเอง…ขออานุภาพแห่งพระพุทธนวราชบพิตร จงปกปักรักษาท่านให้พ้นจากทุกข์ภัยทุกๆประการ บันดาลให้เกิดความสุขสวัสดี มีความก้าวหน้ารุ่งเรืองในการประกอบอาชีพ และมีความสมัครสมานกัน ในอันที่จะร่วมกันสร้างเสริมความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้าให้แก่บ้านเมืองของเราสืบไป”
และได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรทุกจังหวัด จนถึงจังหวัดบึงกาฬเป็นจังหวัดที่ ๗๗ ในวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๔๕๕
สำหรับกรุงเทพมหานคร นอกจากจะมีพุทธนวราชบพิตรประดิษฐานอยู่ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครเช่นเดียวกับทุกจังหวัดแล้ว ยังมีที่วัดบวรนิเวศ และวัดตรีทศเทศซึ่งเป็นวัดเดียวที่มีพระพุทธนวราชบพิตรเป็นพระประธานในพระอุโบสถ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรแก่วัดบวรนิเวศวิหาร พระอารามที่ทรงผนวช เป็นกรณีพิเศษ และได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทาน ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๑
ส่วนวัดตรีทศเทพที่พระราชโอรส ๓ องค์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงร่วมกันสร้าง และรัชกาลที่ ๔ ได้พระราชทานนามว่า “ตรีทศเทพ” หมายถึง “เทพ ๓ องค์” ต่อมาในปี ๒๕๒๙ พระอุโบสถหลังเดิมซึ่งมีขนาดย่อมทรุดโทรมลง จึงได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นแทน ครั้นเสร็จแล้วยังไม่มีพระประธาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ จึงโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หล่อพระพุทธนวราชบพิตรขนาดหน้าตักกว้าง ๖๑.๙ นิ้ว สูง ๘๙ นิ้ว ฐานบัว ๑๙ นิ้ว กว้าง ๓๒ นิ้ว เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานประจำพระอุโบสถหลังใหม่ และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระประธานพระพุทธนวราชบิตรเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๓๐ นับเป็นพระพุทธนวราชบพิตรองค์เดียวที่เป็นพระประธานประจำพระอุโบสถ
นอกจากพระพุทธนวราชบพิตรจะกระตุ้นเตือนให้คนไทยทุกจังหวัดมีความสมัครสมานกัน ในอันที่จะร่วมกันสร้างเสริมความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้าให้แก่บ้านเมืองต่อไปแล้ว ยังเป็นนิมิตรหมายแห่งความผูกพันระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนด้วย