นักออกแบบกราฟิกคลื่นลูกใหม่ลงพื้นที่ค้นหาอัตลักษณ์ ภูมิปัญญา งานช่างฝีมือของชุมชนต่างๆ ใน จ.หนองคาย มาเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามโดนใจผู้บริโภค และสามารถใข้สอยได้จริง สร้างเม็ดเงินให้กับชุมชน
นางเกษร กำเหนิดเพ็ชร รองผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า สศร. จัดโครงการพัฒนาศักยภาพนักออกแบบรุ่นใหม่ (ชนช้างกราฟิก ปีที่ 7) โดยคัดเลือกนักศึกษา 5 ทีม เพื่อไปพัฒนาศักยภาพด้านผลิตภัณฑ์ชุมชนของ 5 ชุมชนใน จ.หนองคาย โดย 3 ทีม จาก ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ได้แก่ “ทีม Fight Hundred” ลงพื้นที่ชุมชนบ้านไชยา , “ทีม NoSleep NoWork” ที่ชุมชนบ้านดงป่าเปลือย , “ทีมขบวนการเหมียว เหมียว” ที่ชุมชนบ้านวังน้ำมอก ส่วนอีก 2 ทีมจากจากมหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้แก่ “ทีมอรุ่มเจ๊าะ” ลงพื้นที่ชุมชนบ้านโพธิ์ตาก และ “ทีมทาคูมิ” ที่ชุมชนบ้านสีกาย
“ นักศึกษาทุกทีมต่างมุ่งมั่นตั้งใจ ลงพื้นที่ เก็บข้อมูล ค้นหาอัตลักษณ์ ภูมิปัญญา งานช่างฝีมือของแต่ละชุมชนอย่างละเอียดและได้รับการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์จากชาวบ้านเพื่อนำมาใช้ในประกอบแนวคิดในการพัฒนาออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนจัดทำตราสัญลักษณ์และสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ให้กับชุมชนสามารถนำไปใช้ได้จริง เป้าหมายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ให้กับชุมชนต่างๆ โดยจะประกาศผลภายในเดือน มี.ค.นี้ “ นางเกษร กล่าว
ด้านทีมนักออกแบบ น.ส.กัญญาวีร์ วิลามาศ และ น.ส. อภิรดี อรัณยะนาค จาก “ทีมเหมียว เหมียว” ร่วมกันเล่าว่า เราได้ออกแบบสินค้าและบริการของชุมชนบ้านวังน้ำมอก ได้แก่ โคมไฟพาแลง กระเป๋าย่าม และวิถีชุมชนแบบ สองล้าน สองเวียง เป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมของชาวล้านนากับล้านช้าง ซึ่งลายผ้าแตกต่างจากที่อื่น เช่น ลายน้ำโขง ลายดอกไม้ เอกลักษณ์ของที่นี่ คือ โคมไฟและดอกจำปาลาว นำมาออกแบบสติกเกอร์เป็นโลโก้ ป้ายสินค้า รวมถึงบรรจุภัณฑ์ให้ผลิตภัณฑ์ สร้างอัตลักษณ์ให้แก่ชุมชน
ส่วนสองสาวกราฟิก น.ส.ปริฉัตร ศรีเจริญ และน.ส. พัณณิตา ประสงค์แสนสุข จาก “ทีมอรุ่มเจ๊าะ” กล่าวว่า จุดเด่นของบ้านโพธิ์ตาก คือ วัฒนธรรมการต้อนรับแบบวิถีไทยพวนของชุมชนที่เข้มแข็ง ภูมิปัญญาการผ้าทอพื้นเมือง เครื่องจักสานไม้ไผ่ ถั่วคั่วทราย และผลิตภัณฑ์ข้าวกล้อง ข้าวฮางงอกและข้าวเม่า เป็นต้น เราได้ประยุกต์นำภาษาไทยพวนมาใช้ เช่น สติกเกอร์ที่ติดบรรจุภัณฑ์ของถั่วคั่ว อ่านเป็นภาษาไทยพวนว่า “ลั่วแค่” แปลว่า“คั่ว” ส่วนผลิตภัณฑ์ทอผ้า ออกแบบภาพคนกำลังทอผ้าและมีคำพูดประกอบว่า“ลอแท หล้าแผ้” แปลว่า“ทอผ้า”เป็นต้น เพื่อสร้างการจดจำ พร้อมเพิ่มคู่สีสร้างอัตลักษณ์ให้กับชุมชน ได้แก่ สีกรมท่า สีส้ม สีขาวและสีครีม ตลอดจนสาธิตการทำบล็อคสกรีนลงบนเสื้อ กระเป๋าและผ้าทอ เป็นกิจกรรมส่งเสริมการขายสร้างความประทับใจผู้มาเยือน ชุมชนสามารถสร้างสรรค์กิจกรรมต่อยอดได้
น.ส. กนกพร น่วมเจิม และ น.ส. วรัญญา เนตรบุญ จาก “ทีมทาคูมิ” เล่าว่า ทีมออกแบบโลโก้ส่งเสริมอัตลักษณ์จากตำนานเล่าขานของหมู่บ้านสีกายให้เป็นที่จดจำ ทั้งยังพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าและบริการของชุมชน ได้แก่ หมอนสมุนไพร ลูกประคบ แจ่วบอง และปลาร้าฟู เน้นใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนให้มากที่สุด ในชุมชนทอผ้าขาวม้านำมาออกแบบเป็นกระเป๋าใส่หมอนสมุนไพรแทนถุงพลาสติก สร้างการจดจำสินค้าชุมชนบ้านสีกาย ส่วนปลาร้าฟูกับแจ่วบอง ออกแบบให้ใช้กล่องพลาสติกสูญญากาศ ช่วยเก็บกลิ่นและถนอมอาหาร นำมาใส่ในกระติ๊บสานผลิตภัณฑ์ชุมชน ช่วยพัฒนาและส่งเสริมรายได้ให้กับชุมชนทั่วถึงและสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภคมากขึ้น
น.ส.ชมัยพร ธัญญเจริญ และนายธราเทพ อนันสลุง จาก ทีม Fight Hundred” กล่าวว่า จุดเด่นของชุมชนบ้านไชยา คือ ภูมิปัญญาการจักสานและการทอผ้าที่มีอัตลักษณ์สืบทอดรุ่นสู่รุ่น จึงออกแบบสัญลักษณ์ของสินค้าชุมชนนำลายหมี่นาคน้อยที่กลุ่มทอผ้าและคุณแม่บุญล้อมคิดค้นขึ้นภายใต้ความเชื่อและความศรัทธาเกี่ยวกับพญานาคมาดัดแปลงให้เป็นลวดลาย ส่วนป้ายแท็กราคาใส่เรื่องเล่าสินค้าและวิถีชุมชนเพิ่มความรู้ให้กับผู้ซื้อด้วย นอกจากนี้ ยังนำหลักการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์สอดแทรกในวิถีชีวิตของชุมชน ทำให้นักท่องเที่ยวได้รับความเพลิดเพลินและได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนตามฐานต่างๆ
นักออกแบบรุ่นใหม่ นายธีร์ทัศน์ เจียรธีระกูล และนายสมศักดิ์ บุตรสอน ทีม “No sleep No Work” บอกว่า ได้รับผิดชอบการออกแบบโลโก้และบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านดงป่าเปลือย ทั้ง “กล้วยร้อยภู” ลูกประคบ “ไพรสบาย” และไม้กวาด “ฟอยดอกหญ้า” นอกจากนี้ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่พร้อมบรรจุภัณฑ์ ให้ชุมชนนำพิมเสนและการบูรมาผสมกับสมุนไพรพื้นบ้านทำยาดมสมุนไพรจำหน่าย