วันจันทร์ ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2565, 10.47 น.
“บิ๊กตู่” คุย “ชัชชาติ-ตัวแทนกองทัพ” คาดสั่งการเรื่องน้ำท่วม โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ กำชับหน่วยงานเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ย้ำ ให้ความสำคัญ เก็บขยะและวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำไหล และป้องกันบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนทันที โดยรัฐบาล-ภาคส่วนต่างๆ จะช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่องและเต็มที่ กรมชลประทานเตือนระดับน้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 25 ก.ค. ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานในพิธีมอบตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ได้พูดคุยกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร และตัวแทนจากกองทัพ ประมาณ 5 นาที ซึ่งคาดว่าเป็นการสั่งการถึงมาตรการการช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่มีฝนตกลงมาและเกิดปัญหาน้ำท่วมขัง ซึ่งก่อนหน้านี้ทางกองทัพ และกรุงเทพมหานครได้ประสานความร่วมมือในการช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว แต่คาดว่าในช่วงฤดูฝนขณะนี้อาจเกิดเหตุการซ้ำขึ้นมาอีก
โฆษกรัฐบาลเผยนายกฯ ห่วงประชาชนกำชับเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำใกล้ชิด
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมขังฉับพลันจากฝนตกหนักในพื้นที่หลายจังหวัดของประเทศ โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ ล่าสุด ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก-ดินถล่ม ในช่วง 1-2 วันนี้ บริเวณ 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และหนองคาย ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 45,390 ล้าน ลบ.ม. (55%) ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 20-24 ก.ค. เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก พิจิตร ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา ระยอง ชลบุรี สมุทรปราการ นนทบุรี และยะลา รวม 20 อำเภอ 29 ตำบล 65 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 392 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย (ชลบุรี) ปัจจุบันภาพรวมสถานการณ์คลี่คลายแล้ว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักทำให้น้ำท่วมในหลายพื้นที่ นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง โดยได้เน้นย้ำให้ ปภ. จังหวัด หน่วยทหาร ส่วนราชการ ป้องกันและบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนทันทีเมื่อเกิดภัยตามที่หน่วยงานต่างๆ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการรับมือไว้ล่วงหน้าแล้ว ให้คลี่คลายสถานการณ์ ร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขัง พร้อมทั้งให้จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ดูแลให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย และสำรวจและประเมินความเสียหายหลังน้ำลด เพื่อดำเนินการช่วยเหลือประชาชนตามระเบียบของทางราชการต่อไป
“นายกรัฐมนตรีกำชับว่าในช่วงฤดูฝนนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ให้ความสำคัญกับการเก็บขยะและวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำไหล เพื่อเตรียมพร้อมเร่งระบายน้ำฝนที่ตกลงมาให้น้ำไหลได้สะดวก พร้อมแนะให้ประชาชนที่อยู่บนเส้นทางน้ำหลาก เร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร เก็บของไว้บนที่สูงเพื่อความปลอดภัย ให้ระวังอันตรายจากสัตว์และแมลงมีพิษ ระวังอันตรายจากกระแสไฟฟ้า ระวังการขับขี่พาหนะบริเวณน้ำไหลผ่านทาง โดยขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารประกาศจากทางราชการ และทางแอปพลิเคชันพยากรณ์อากาศทางโทรศัพท์มือถือ ที่ในปัจจุบันสามารถคาดการณ์สภาพอากาศได้อย่างรวดเร็ว มีความเที่ยงตรงและแม่นยำ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถเตรียมความพร้อมตนเองได้ในเบื้องต้นด้วย ทั้งนี้ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลและภาคส่วนต่างๆ จะให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่องและเต็มที่” นายธนกร กล่าว.
ฝนตกหนักในพื้นที่ตอนบนกรมชลประทานเตือนระดับน้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 21/2565 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่น้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 20 – 24 กรกฎาคม 2565 จากอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักและหนักมาก บริเวณลุ่มน้ำน่านและลำน้ำสาขา รวมถึงแม่น้ำแควน้อย และแม่น้ำป่าสัก กรมชลประทาน คาดการณ์ว่าในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ที่สถานี C.2 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่าน ประมาณ 900 – 1,000 ลบ.ม./วินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะเเกกรัง ที่สถานี Ct.19 จะมีปริมาณไหลผ่าน 150 ลบ.ม./วินาที ก่อนจะไหลมารวมกันลงสู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ในเกณฑ์ประมาณ 1,050 – 1,150 ลบ.ม./วินาที
จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมชลประทาน มีความจำเป็น ต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราระหว่าง 850 – 1,000 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.60 – 0.80 เมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน ทั้งนี้ หากมีปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้นที่จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,000 ลบ.ม./วินาที จะแจ้งให้ทราบต่อไป
ทั้งนี้ กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำและควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพ และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน จึงได้แจ้งเตือน 11 จังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา(อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร)และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนบริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร เป็นต้น รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย ขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในระยะนี้