ศบค.ชี้ ผลตรวจโควิดจากชุดตรวจ ATK จะไม่นับรวมยอดผู้ติดเชื้อรายวัน เพราะยังไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าจะเป็น เน้นให้พักผ่อนมาก ๆ ก็หายเองได้
วันนี้ (11 ส.ค. 2564) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ผู้ตอดเชื้อโควิด19 ในช่วงวันที่ 30 ก.ค.–5 ส.ค. พบการติดเชื้อทั้ง 77 จังหวัด เฉลี่ย 18,000 รายต่อวัน การใช้เตียงเดิมกระจุกตัวใน กทม. และปริมณฑล กระจายออกไปตามภูมิภาค ส่วนใหญ่ไปทางอีสาน เนื่องจากเป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานใน กทม. และปริมณฑล ทำให้สถานการณ์เตียงอยู่ในระดับสีแดง คือเตียงพร้อมใช้มีน้อยกว่า ร้อยละ 20 มี 13 จังหวัด คือ อยุธยา, ฉะเชิงเทรา, บึงกาฬ, หนองบัวลำภู, หนองคาย, มหาสารคาม, นครสวรรค์, ราชบุรี, สมุทรสงคราม, นครนายก, พิจิตร, สมุทรสาคร และภูเก็ต
ภาพรวมอาการหนักที่ต้องใช้เตียง 5,005 ราย ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคกลาง โดยที่ จ.นครปฐม พบมากที่สุด คือ อาการหนักมากกว่า ร้อยละ 10 ส่วนที่ไม่พบอาการหนักมี 2 จังหวัด คือ กระบี่ และพัทลุง อัตราการเสียชีวิตพบว่ากระจุกตัวในภาคกลาง
สำหรับกรณีการตรวจโควิด-19 ด้วย Antigen Test Kit หรือ ATK ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามกลุ่มเขต จากการรายงานของสำนักอนามัย กทม. ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.-11 ส.ค. 2564 มีผลบวกอยู่ที่ 8.85% ส่วนการตรวจ ATK ทั่วประเทศพบผลบวก 2,081 ราย (รายงาน ณ วันที่ 11 ส.ค.) เข้าสู่การรักษา เนื่องจากหากต้องรอผล RT-PCR อาจล่าช้ากว่านี้
สำหรับคำถามว่าจะต้องนำไปบวกกับตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่วันนี้หรือไม่ โฆษก ศบค. แจ้งว่า ผลตรวจโควิดจากชุดตรวจ ATK จะไม่นับรวมยอดผู้ติดเชื้อรายวัน การยืนยันเคสคือ 21,038 ราย ซึ่งผลบวกจาก ATK คือให้เข้าถึงการรักษาแต่ยังไม่ได้วินิจฉัยว่าจะเป็น ซึ่งเกิดขึ้นหลายประเทศ พร้อมยกตัวอย่าง ไข้หวัดใหญ่ ที่ผู้ป่วยไม่ได้เข้าโรงพยาบาลแต่รู้ว่าตัวเองมีอาการมากกว่าไข้หวัด ก็สามารถอยู่บ้านรักษาตัวเองแล้วก็หายได้ หลายคนไม่ได้รับการวินิจฉัยแต่ก็ได้รับการรักษา คือการให้พักมาก ๆ จะทำให้หายได้เหมือนกัน ทั้งนี้ยังไม่รวมในการรายงาน