
ศบค. สั่งเฝ้าระวัง นครศรีธรรมราช หลังพบยอดติดเชื้อโควิดยังเพิ่มไม่หยุด ระบุชัดเป็นคลัสเตอร์ในครอบครัว-ชุมชนติดมากสุดถึง 80% ขณะที่ภาคใต้ยังติดท็อป 10 ติดเชื้อสูงสุดถึง 6 จังหวัด เผยต่างชาติเข้าไทย 1.3 หมื่นรายแล้ว ตรวจเจอติดเชื้อแค่ 10 คน ส่วนการฉีดวัคซีนในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวเกินเป้า 50% เกือบหมดแล้ว ยกเว้นหนองคายจังหวัดเดียว พร้อมมีแผนเผชิญเหตุรับมือ
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ( ศบค.) แถลงสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศประจำวันว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 มีผู้ป่วยรายใหม่ 8,148 ราย หายป่วยแล้ว 1,807,304 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,922,709 ราย และเสียชีวิตสะสม 19,448 ราย
ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 หายป่วยแล้ว 1,834,730 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,951,572 ราย เสียชีวิตสะสม 19,542 ราย
วันนี้มีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ 97,470 คน อยู่ในรพ. 42,813 คน รพ.สนามและอื่น ๆ จำนวน 54,657 คน อาการหนัก 2,118 คน ในจำนวนนี้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจจำนวน 461 คน
ฉีดวัคซีนเข็ม 1 ทะลุ 60.3% ใต้ยังเสียชีวิตมากสุด
สำหรับผู้ขอรับการฉีดวัคซีน ณ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 290,603 รายเข็มที่ 2 จำนวน 502,554 รายเข็มที่ 3 จำนวน 31,493 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 4 พฤศจิกายน 2564 มีผู้รับวัคซีนสะสมทั้งหมด จำนวน 78,656,124 โดส
แพทย์หญิงสุมนีกล่าวว่า ส่วนผู้เสียชีวิต 80 รายในวันนี้ เป็นเพศหญิง 51 ราย เพศชาย 29 ราย และ 94% เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และมีโรคประจำตัว โดยมีรายงานจากภาคใต้วันนี้มากที่สุด 23 คน โดยมาจากนครศรีธรรมราช 6 คน ตรัง ปัตตานี จังหวัดละ 3 คน ภูเก็ต 2 คน สตูล 2 คน สุราษฎร์ธานี 2 คน กระบี่ ชุมพร ยะลา พังงา และสงขลา จังหวัดละ 1 คน
เผยการระบาดตั้งแต่ระลอกเมษายน หญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต 68 คน
วันนี้มีการวิเคราะห์ผู้เสียชีวิตตั้งแต่การระบาดระลอกเดือนเมษายน 2563 จนถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 19,413 ราย ถ้าดูในรายละเอียดจะพบว่า ส่วนใหญ่ผู้เสียชีวิตจะเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง และอายุมากว่า 70 ปีขึ้นไป
รองลงมาเป็นอายุ 60-69 ปี รองลงมาอีกก็อยู่ในช่วง 50-59 ปี ซึ่งผู้เสียชีวิตกว่า 86.5% จะเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรค 3 อันดับแรก คือ โรคความดันโลหิตสูง ไขมันสูง และตามมาด้วยโรคอ้วน และในจำนวนผู้เสียชีวิตมีหญิงตั้งครรภ์ด้วย 68 คน คิดเป็น 0.35%
ชี้ 80%ของผู้เสียชีวิตไม่ได้ฉีดวัคซีน
และถ้าไปดูประวัติผู้เสียชีวิตทั้งหมดจะพบว่า มากกว่า 80% ของผู้เสียชีวิตไม่ได้รับวัคซีน มีประมาณ 18% ได้รับวัคซีน 1 เข็ม เกือบ 2% ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม
ส่วนแนวโน้มผู้ติดเชื้อทั่วประเทศยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยต่างจังหวัด 67 จังหวัด มีผู้ติดเชื้อ 4,766 ราย คิดเป็นสัดส่วน 63% ชายแดนใต้ 1,513 ราย คิดเป็นสัดส่วน 20% กทม.และปริมณฑล 1,249 ราย คิดเป็นสัดส่วน 17%
เฝ้าระวัง “นครศรีธรรมราช” พบติดเชื้อใหม่พุ่งไม่หยุด
ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับ 1 ยังเป็นกรุงเทพมหานคร จำนวน 721 ราย ลดลงจากวานนี้ 106 ราย ส่วนอันดับที่ 2 เป็นสงขลา 498 ราย ปัตตานี 427 ราย เชียงใหม่ 403 ราย ยะลา 375 ราย ชลบุรี 348 ราย นครศรีธรรมราช 294 ราย สมุทรปราการ 244 ราย นราธิวาส 213 ราย ตรัง 205 ราย
“อันดับที่ 2, 3, 5, 7, 9, 10 เป็นจังหวัดในภาคใต้ ส่วนจังหวัดที่มีการเฝ้าระวัง คือ นครศรีธรรมราช ที่เป็นอันดับ 7 ของวันนี้ ซึ่งทางพื้นที่โดยสำนักงานป้องกับควบคุมโรคที่ 11 และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครศรีธรรมราชมีการวิเคราะห์สถานการณ์การระบาดจะเห็นว่า มีการระบาด (เส้นสีน้ำเงิน) มีการระบาดตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกันยายน เป็นต้นมา ซึ่งตอนนั้นมีผู้ติดเชื้อประมาณ 300-400 คน และเพิ่มขึ้นมาจนถึงเดือนตุลาคม ที่เพิ่มขึ้นไปถึงวันละ 600 คน ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับภาพรวมของประเทศต่อแสนประชากร นครศรีธรรมราชจะเพิ่มมากกว่า(ดูกราฟประกอบ)” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว และว่า
คลัสเตอร์ครอบครัว-ชุมชนติดมากสุด
เมื่อลงไปดูรายละเอียดจะพบว่า คลัสเตอร์แรกเริ่มเป็นคลัสเตอร์ที่อยู่ในโรงงาน และตลาดที่เริ่มระบาดมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา หลังจากนั้นมีการแพร่กระจายเข้าสู่ชุมชน และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม จนถึงปัจจุบัน พอมา ranking หรือจัดอันดับการระบาด พื้นที่ที่มีการระบาดมากที่สุดจะเป็นในครอบครัวและชุมชนถึง 80% รองลงมาเป็นตลาด 6.89% เรือนจำ 5.11% โรงงาน 1.68% และคลัสเตอร์ในกิจกรรมทางศาสนา 1.43%
สำหรับมาตรการที่จังหวัดนครศรีธรรมราชได้ดำเนินการ เพื่อจำกัดวงการระบาด จะมีการตรวจค้นหาเชิงรุกโดยทีม CCRT และมีการเร่งระดมฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง และยังมีมาตรการเพิ่มเติม จากเดิมที่จ.นครศรีธรรมราชจะเป็นจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม ซึ่งมีมาตรการการห้ามออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิวอยู่ในช่วง 5 ทุ่มถึงตี 3
แต่สำหรับนครศรีธรรมราชได้มีการจัดการที่เข้มกว่าที่ ศบค.กำหนด คือมีชั่วโมงเคอร์ฟิวเพิ่มขึ้นเป็น 4 ทุ่มถึง ตี 3 (22.00-03.00 น.) นอกจากนี้ ยังมีการปิดชุมชนที่มีการระบาดเพิ่มขึ้นด้วยเพื่อที่จะจำกัดวงการแพร่ระบาด
คลัสเตอร์ใหม่ยังพบต่อเนื่อง
กลับมาที่ 10 อันดับแรกที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด เรายังมีการติดตามคลัสเตอร์ใหม่ คืออันดับที่ 4 จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งวันนี้เชียงใหม่ยังมีการพบการระบาดในตลาดอีก 32 คน แคมป์ก่อสร้าง 8 คน สถานศึกษา 7 คน ศูนย์เด็กเล็ก 4 คน ส่วนคลัสเตอร์ที่ชลบุรี อันดับที่ 6 ยังพบในค่ายทหารอีก 15 คน แคป์ก่อสร้างอีก 13 คน
ส่วนการระบาดที่โรงเรียนคำสร้อยพิทยาสรรพ์ จ.มุกดาหาร ที่มีการรายงานผลการตรวจ ATK ในวันเปิดเรียนในช่วงที่ผ่านมา ขณะนี้ทางพื้นที่โดยผู้ว่าราชการจังหวัด มุกดาหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษา ได้ลงไปตรวจด้วยวิธี RT-PCR ซ้ำในพื้นที่ที่มีผล ATK เป็นบวกซ้ำ พบว่า ผลออกมาเป็นลบหมด ทำให้คลัสเตอร์โรงเรียนมัธยมนี้ไม่มีผู้ติดเชื้อ และกลับมาเปิดเรียนตามปกติแล้ว
ต่างชาติเข้าไทย 1.3 หมื่นราย ติดเชื้อแค่ 10 คน
ส่วนการฉีดวัคซีนวันนี้มีฉีดเพิ่มขึ้น 824,650 โดส และเป็นยอดรวมทั้งสิ้นกว่า 78 ล้านโดสแล้ว ในจำนวนนี้เป็นเข็มที่ 1 ครอบคลุมประชากร 60.3% ครบ 2 เข็ม 45.4% และเป็นเข็มที่ 3 จำนวน 3.5% และเมื่อแยกตามกลุ่มอายุพบว่า ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 69.8% เป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษาอายุ 12-17 ปี จำนวน 57.3% และจะต้องเร่งการฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ให้ได้เพิ่มขึ้น เพราะจากรายงานวันนี้ฉีดไปได้เพียง 166% เท่านั้น
ขณะที่การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ล่าสุดจากตัวเลขวานนี้ (4 พ.ย.) มีนักท่องเที่ยวเข้ามาที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2,086 คน รวมสะสม 9,210 คน แต่ถ้ารวมทุกท่าอากาศยานทั้งสุวรรณภูมิ ภูเก็ต และสมุย ตั้งแต่ 1 พ.ย. เป็นต้นมา ยอดของผู้เดินทางผ่านทางอากาศเข้ามาทั้งสิ้น 13,129 คน โดยเข้ามาทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 9,210 คน ท่าอากาศยานภูเก็ต 4,005 คน และท่าอากาศยานสมุย 182 คน
จาการตรวจหาเชื้อโควิด พบว่า มีการติดเชื้อจำนวน 10 คน อัตราการติดเชื้อคิดเป็น 0.075% จากนักท่องเที่ยวทั้งหมด
เปิดชื่อ 10 ประเทศเข้าไทยมากสุด
ส่วน 10 ประเทศต้นทางที่เข้ามามากที่สุด อันดับ 1 เป็นสหรัฐอเมริกา อันดับที่ 2 เป็นเยอรมนี อันดับ 3 เป็นสหราชอาณาจักร อันดับ 4 ญี่ปุ่น อันดับที่ 5 สวิตเซอร์แลนด์ อันดับที่ 6 สวีเดน อันดับ 7 เกาหลีใต้ อันดับ 8 เนเธอร์แลนด์ อันดับ 9 สหรัฐอาหรับเอมิเรตน์ และอันดับ 10 จีน
แพทย์หญิงสุมนี กล่าวว่า การดำเนินงานที่ผ่านมา ศบค.ชุดเล็กขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่และสายการบินต่าง ๆ ได้มีการตรวจเอกสาร หลักฐานต่าง ๆ ของนักท่องเที่ยว และผู้ที่จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรอย่างละเอียดให้ครบถ้วน ตั้งแต่ก่อนเดินทางจนถึงเข้ามาถึงประเทศเรา
และเมื่อมาถึงประเทศไทยแล้วขอให้ขั้นตอนที่สำคัญมาก ๆ คือการตรวจคัดกรองเชื้อแบบ RT-PCR ที่โรงแรมเข้าพักจะต้องมีระบบในการดำเนินการที่จะจับคู่กับโรงพยาบาลคู่สัญญา เพื่อตรวจและออกผลให้ได้ภายใน 6 ชั่วโมงก่อนเข้าสู่ระบบแซนด์บอกซ์ หรือระบบ Test and Go ต่อไป โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯต้องมีการกำกับดูแลให้ทำอย่างเคร่งครัด
ศบค.-สธ.ห่วงกิจการ-กิจกรรมหลังผ่อนคลาย
ส่วนการได้รับวัคซีนของจังหวัดนำร่อง 17 จังหวัด แพทย์หญิงสุมนี กล่าวว่า ค่าเฉลี่ยเข็มแรกอยู่ที่ 80.9% จังหวัดส่วนใหญ่ฉีดเข็มแรกเกิน 50% แล้ว และยังเร่งฉีดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เหลือเพียงจังหวัดเดียว คือหนองคายที่ฉีดได้ 48% จงขอเร่งรัดให้ฉีดได้เพิ่มขึ้น ส่วนผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวในพ้นที่นำร่องท่องเที่ยวสีฟ้า พบว่า ค่าเฉลี่ยของการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 77.4% และเข็ม 2 อยู่ที่ 64 %
นอกจากนี้ ศปก.ศบค. กระทรวงสาธารณสุข มีความเป็นห่วงการดำเนินกิจการ กิจกรรมที่มีการผ่อนคลายประเทศ โดยได้มีการพูดคุยกับ กทม. และกับภาคเอกชน ทั้งสมาคมภัตตาคารไทย สมาคมค้าปลีก โดยมีประเด็นหลัก 2 เรื่องคือ เร่งรัดให้สถานประกอบการ ร้านอาหาร ทำความเข้าใจและสร้างความร่วมมือ ดำเนินการภายใต้มาตรการด้านสาธาณสุข หรือมาตรฐาน SHA หรือ SHA+ หรือถ้ายังไม่ได้เข้ามาตรฐานก็จะต้องเร่งระดมฉีดวัคซีนให้พนักงาน โดยเฉพาะในกรุงเทพ เพื่อให้รองรับมาตรการอื่น ๆ ที่จะตามมา
ย้ำมีแผนเผชิญเหตุ หากนักท่องเที่ยวติดเชื้อ-ระบาด
ส่วนเรื่องที่สองการอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร ขอให้เจ้าของกิจการและสถานประกอบการทั้งหมด ช่วยดำเนินการภายใต้มาตรการของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดตามเวลาที่ได้จำกัดไว้ โดย ศปก.ศบค. จะมีการประเมินสถานการณ์ทุก 2 สัปดาห์ และขอความร่วมมือทุก ๆ หน่วยงานในการขับเคลื่อนมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อที่เราจะสามารถดำเนินการผ่อนคลายมาตรการในระยะต่อ ๆ ไป ได้สำเร็จและประชาชนมีความปลอดภัย
ต่อข้อสอบถามถึงการเตรียมพร้อมหากเปิดรับนักท่องเที่ยวมาแล้วหากเกิดการระบาดจากการเปิดรับนักท่องเที่ยว แพทย์หญิงสุมนีกล่าวชี้แจงว่า ก่อนที่จะเปิดประเทศเราได้มีการจัดทำแผนเผชิญเหตุ ไว้แล้ว ภายใต้หลักการของ ศบค. ตั้งแต่ปรับลดกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยว จนถึงการยุติการรับนักท่องเที่ยว ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์
- ศบค.พบผู้ป่วยโควิดวันนี้ (5 พ.ย.) 8,148 ราย ATK บวกเพิ่มอีก 3,848 คน