‘สุพัฒนพงษ์’ หนุนนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ
เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2564 บริเวณอาคารคลังสินค้า นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ต.โนนสูง จ.อุดรธานี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน , นายธีรยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีอุตสาหกรรม ประชุมติดตามความคืบหน้า “นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี” โดยมีนายจำรัส กังน้อย รอง ผวจ.อุดรธานี , น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นำคณะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง , องค์กรภาคเอกชน และผู้บริหาร บ.เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี ผู้ดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรม
น.ส.สมจิณณ์ พิลึกกล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นความร่วมมือระหว่าง กนอ. กับ บ.เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จก. ที่ได้ลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงานเมื่อปี 2557 ภายใต้แนวคิดการเป็นนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว แห่งแรกของภาคอีสาน การพัฒนาโครงการเฟสแรก 1,300 ไร่ มีความคืบหน้าไปกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ ในการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภค ถนน, องค์ประกอบถนน , ระบบระบายน้ำฝน , ระบบน้ำเสีย , ระบบประปา รวมระยะทาง 5.67 กิโลเมตร ตามแผนจะแล้วเสร็จ ก.ย.64
รวมถึงการพัฒนาศูนย์โลจิสติกส์ ปาร์ค (Logistics Park) พื้นที่ 600 ไร่ รองรับการเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางราง และโลจิสติกส์ในภูมิภาค และยังเป็นศูนย์การขนส่งสินค้าไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV และจีนตอนใต้ รวมถึงการขนส่งทางรางไปยังท่าเรือแหลมฉบัง และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ขณะเดียวกันในส่วนของการก่อสร้างอาคารคลังสินค้าให้เช่า ซึ่งอยู่ในแผนการพัฒนาระยะที่ 1 (2564-2565) ล่าสุดอาคารคลังสินค้าทั้ง 3 หลัง รวมพื้นที่ 23,160 ตารางเมตร พร้อมเปิดบริการให้เช่าแล้ว
นายพิศิษฎ์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรมการผู้จัดการ บ.เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จก. กล่าวว่า การพัฒนาโครงการเป็นไปต่อเนื่อง แม้จะมีสถานการณ์ระบาดโควิด-19 พื้นที่มีศักยภาพสูงทั้งการขนส่ง ทางถนน ทางราง และทางอากาศ ปัจจุบันโครงสร้างพื้นที่ ไฟฟ้า 115 KV จ่ายกระแสได้แล้ว บ่อหน่วงน้ำ 1.5 ล้าน ลบม. ขณะส่วนระหว่างก่อสร้าง , ประปา 8,000 ลบม./วัน , บำบัดน้ำเสีย 6,400 ลบม./วัน , ถนนในโครงการ , พลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ (หลังคา- ผิวน้ำ) และพื้นที่สีเขียว 226 ไร่ ปลายปีนี้เปิดให้ลงทุน ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม ยังมีพื้นที่ SME กว่า 100 ไร่ เปิดให้เช้าพร้อมอาคาร
นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี กำหนดแผนการดำเนินการ ในระยะสั้น-กลาง-ยาว โดยขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล อาทิ การสร้างทางรถไฟไปถึงทางเข้านิคมอุตสาหกรรม , การสร้างถนนคู่ขนานทางรถไฟไปถึงตัวเมืองอุดรธานี , ก่อสร้างทางเชื่อมถนนมิตรภาพ กับถนนเข้านิคมอุตสาหกรรม , แก้ไขปัญหาถนนที่มีความเสี่ยง ที่อยู่ระหว่างสถานีรถไฟหนองตะไก้-นิคมอุตสาหกรรม และการขอรับสิทธิส่งเสริมการลงทุนเท่ากับ เขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองชายแดน
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ กล่าวว่า ต้องชื่นชมความตั้งใจผู้ลงทุน คืบหน้าไปมากจากมาครั้งก่อน แต่บางเรื่องไม่คืบแม่จะไปตามเอง ก็ฝากไปที่ กนอ. ให้ไปติดตามการบรรจุนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เข้าในอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย ถ้าจะนำเสนอคณะกรรมการใหญ่ ก็เก็บเอาภาพนี้เข้าไป ให้เห็นถึงการพัฒนาการ ถ้าภาพรวมเราต้องการเห็น ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะขนส่งด้านรถไฟ นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีทำอะไรได้บ้าง
“ 2 ธันวาคมนี้ รถไฟจากจีนก็จะมาถึงเวียงจันทน์ จะมีทั้งคนมีทั้งสินค้ามาถึง ประเทศไทยเราเตรียมตัวเรื่องนี้อย่างไร นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีจะมีส่วนอย่างไร หรือที่หนองคายจะว่าอย่างไร จะต้องหาโอกาสมาประชุมหารือกัน นับจากนี้ไปมันก็ไม่นาน เราน่าจะมีทางออกเป็นแผนระยะสั้น ส่วนระยะยาวเรื่องรถไฟทางคู่ ตอนนี้มาถึงแค่ จ.ขอนแก่น อีก 2 ปีจะถึง จ.หนองคายทันไหมก็ไม่รู้ จะใช้ประโยชน์จากโอกาสใหม่ๆ อย่างไร ส่วนกลางคิดอย่างเดียวไม่ลึกพอ อุดรธานี-หนองคายต้องช่วยกันคิด”
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า ทำอย่างไรจะให้รถไฟจีน ส่งวัตถุดิบมาผลิตสินค้าที่นี่ ไม่ต้องส่งมาเฉพาะสินค้าสำเร็จรูป แล้วมาแย่งตลาดเรา หรือเราก็ผลิตที่นี่แล้วส่งไปขายเขา จัดหมวดหมู่กันให้ดี เวลาท่านเหลือไม่มาก จะรอให้ระบบต่างๆ เสร็จก่อน ทั้งทางหลวง รถไฟรางคู่ หรือดรายฟอร์ท ยังต้องใช้เวลาโอกาส 2 ปีเราจะเสียไป มาพูดกันว่าเมื่อรถไฟจีนมาถึงเวียงจันทร์แล้ว เราจะได้ประโยชน์อย่างไร ตนเองทำอะไรได้ก็จะทำเต็มที่ เพื่อเข้ามาช่วยขับเคลื่อนในภูมิภาคอีสานตอนบน
นอกจากนี้ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวแสดงความห่วงใย เรื่องของระเบียงเศรษฐกิจ ว่าเรามักเอาตัวเราเป็นตัวตั้ง แล้วตั้งสมมุติฐานว่าเวลานั้น เวลานี้จะเกิดอะไร จะทำให้การวางแผนคลาดเคลื่อน ฝั่งไทยเราอาจะพร้อมพร้อม แต่ประเทศเพื่อนบ้านไปถึงไหน