เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: โรม บุนนาค
การบินในประเทศไทยได้เริ่มขึ้นหลังจากได้ส่งนายทหาร ๓ คนไปเรียนการบินที่ฝรั่งเศส เมื่อผู้สำเร็จการบินทั้ง ๓ กลับมาในปี ๒๔๕๖ และได้สั่งซื้อเครื่องบินแบบปีก ๒ ชั้นที่เคยใช้ฝึกบินในยุโรปมา ๓ เครื่อง จึงถือได้ว่าการบินของไทยได้เริ่มในปีนั้น หลังจากพี่น้องตระกูลไรท์ทดลองการบินสำเร็จเป็นครั้งแรกเป็นเวลา ๑๐ ปีพอดี โดยใช้สนามม้าราชกรีฑาสโมสร ที่ถนนอังรีดูนังต์ เป็นสนามบินแห่งแรก ก่อนจะย้ายมาสร้างสนามบินใหม่ที่ดอนเมืองในปีเดียวกัน แต่การบินในระยะเริ่มต้นเป็นการบินทางทหาร
จนในปี ๒๔๖๒ กรมอากาศยานทหารบกจึงเริ่มทำการทดลองทำการบินรับส่งไปรษณีย์ระหว่างดอนเมือง-จันทบุรี ต่อมาก็รับผู้โดยสารในเส้นทางสายนี้ด้วย นับว่าไทยได้เริ่มการบินพาณิชย์ก่อนใครๆในภูมิภาคนี้
ในปี ๒๔๖๓ ได้ขยายเส้นทางการบินพาณิชย์ไปอีก ๒ จังหวัด คือนครราชสีมาและอุบลราชธานี จากนั้นก็ขยายไปยังอุดรธานีและหนองคาย กับอีกเส้นทางไปจังหวัดพิษณุโลกและเพชรบูรณ์ ซึ่งยังไม่มีรถไฟไปถึง แม้จะมีการรับผู้โดยสารบ้าง แต่ก็ถือการไปรษณีย์เป็นหลัก
ในปี ๒๔๖๔ นายพลโทพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดากร อดีตอุปราชมณฑลพายัพ ซึ่งมีชายาเป็นเจ้าหญิงเชียงใหม่ ได้สร้าง “สนามบินสุเทพ” ขึ้นที่เชิงดอยสุเทพ ในบริเวณที่เป็นป่าไผ่ของตำบลสุเทพ และเจ้าแก้วนวรัตน์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้ร่วมกับเจ้าฝ่ายเหนือและพ่อค้าประชาชนรวมเงินกันซื้อเครื่องบินปีก ๒ ชั้นที่เคยใช้เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดมาดัดแปลงเป็นเครื่องบินโดยสาร ตั้งชื่อว่า “จังหวัดเชียงใหม่” เปิดสนามบินให้เครื่องบินแตะพื้นเชียงใหม่ในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๖ ฉลองกัน ๔ วัน ๔ คืน และรวมเงินกันซื้อเครื่องบินได้อีกเครื่อง เป็น “จังหวัดเชียงใหม่ ๒” เปิดเส้นทางบินเชียงใหม่-กรุงเทพฯ และเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ซึ่งขณะนั้นการคมนาคมทางบกเข้าออกได้เฉพาะฤดูแล้งเท่านั้น
ในปี ๒๔๖๘ จึงมีการจัดตั้งกองบินพลเรือนขึ้นในกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ดูแลการบินพลเรือน จนยกฐานะเป็นกรมการบินพาณิชย์ สังกัดกระทรงคมนาคมในปี ๒๕๐๖
ในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๗๑ ได้มีการจดทะเบียน บริษัท เดินอากาศ จำกัด ทุนจดทะเบียน ๖๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อการขนส่งทางอากาศในประเทศ แต่ก็ต้องหยุดดำเนินกิจการไปในปี ๒๔๘๔ เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขึ้น เนื่องจากขาดแคลนอุปกรณ์และอะไหล่ กลับมาดำเนินกิจการใหม่ในปี ๒๔๙๐
ต่อมามีการจัดตั้งบริษัทการบินขึ้นอีกบริษัทหนึ่ง คือ บริษัท การบินแปซิฟิค โอเวอร์ซี (สยาม) จำกัด โดยมีบริษัทเดินอากาศถือหุ้นด้วย จนในปี ๒๔๙๔ บริษัทเดินอากาศ กับบริษัทการบินแปซิฟิค ได้รวมกิจการเป็นบริษัทเดียวกัน จดทะเบียนใหม่ในชื่อ บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด
ในปี ๒๔๙๘ รัฐบาลมีนโยบายให้บริษัทเดินอากาศไทยดำเนินการบินไปต่างประเทศด้วย จึงซื้อเครื่องบินขนาดใหญ่มาจากอเมริกา ๓ เครื่อง แต่ประสบการในการบินระหว่างประเทศยังไม่พอ จึงขาดทุนจนต้องขายเครื่องบินไป
ในปี ๒๕๐๓ บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด ได้ร่วมทุนกับ บริษัทการบินสแกนดิเนเวียน แอร์ไลนส์ ซิสเต็ม จดทะเบียนบริษัทใหม่ในชื่อ บริษัท การบินไทย จำกัด ด้วยทุน ๒ ล้านบาท ดำเนินการขนส่งระหว่างประเทศตามเส้นทางของบริษัทเดินอากาศไทย ส่วนบริษัทเดินอากาศไทยคงเดินสายภายในประเทศ
จนในปี ๒๕๒๐ บริษัทเดินอากาศไทยได้ซื้อหุ้นในบริษัทการบินไทยจากบริษัทการบินสแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์ทั้งหมด บริษัท การบินไทย จำกัดจึงเป็นบริษัทของคนไทย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ โดยมีบริษัทเดินอากาศไทยและกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้น
ต่อมาในวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๓๑ บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด กับ บริษัทการบินไทย จำกัด ได้รวมกิจการเข้าด้วยกัน เป็น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี ๒๔๓๔ ทำให้หุ้นจดทะเบียนของบริษัทเพิ่มจาก ๒,๒๓๐ ล้านบาท เป็น ๑๖,๐๐๐ ล้านบาท มีจุดบินทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ๕๐ จุดบิน ถือได้ว่าเป็นสายการบินแห่งชาติของไทย